นักเรียน 63.12% ระบุตนเองค้นคว้าหาความรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่าอ่านจากหนังสือ ขณะที่ร้อยละ 64.34 ยอมรับตนเองหาความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองมากกว่าสอบถามครูอาจารย์

ข่าวทั่วไป Monday January 16, 2017 11:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียน ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 ถึง 15 มกราคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,147 คน ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตจัดเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญและสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนทั่วไปในหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา ซึ่งรัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาในทุกพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา ขณะเดียวกันสถานศึกษาต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนได้สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งนี้ระบบอินเทอร์เน็ตนอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาในทุกพื้นที่แล้ว ประโยชน์สำคัญของระบบอินเทอร์เน็ตอีกประการหนึ่งคือการที่นักเรียนนักศึกษาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการเรียนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั้งในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เพิ่มเติมจากที่ครูอาจารย์สอนในห้องเรียน หรือในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ รวมถึงการใช้ค้นคว้าหาข้อมูลประกอบการทำรายงานหรือการบ้านที่ครูอาจารย์สั่ง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนครูอาจารย์และนักวิชาการส่วนหนึ่งได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงความห่วงใยว่าในปัจจุบันนักเรียนนักศึกษาอาจให้ความสำคัญกับการค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากเกินไปจนไม่ได้ให้ความสนใจกับเอกสารประเภทอื่นๆ หรือการที่นักเรียนนักศึกษานิยมค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่าการสอบถามครูอาจารย์โดยตรง นอกจากนี้การใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงอาจมีนักเรียนนักศึกษาบางส่วนใช้ประโยชน์จากระบบอินเทอร์เน็ตในการคัดลอกผลงานหรือรายงานของผู้อื่น ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้อาจส่งผลเสียให้กับนักเรียนนักศึกษาในระยะยาวได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียน ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 13 ถึง 20 ปี ซึ่งจำแนกเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.65 และร้อยละ 49.35 เป็นเพศชาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนนั้น สำหรับวิชาที่กลุ่มตัวอย่างใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้มากที่สุด 5 อันดับได้แก่ สังคมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 81.34 คณิตศาสตร์คิดเป็นร้อยละ 79.16 ภาษาไทยคิดเป็นร้อยละ 76.81 ภาษาอังกฤษคิดเป็นร้อยละ 75.15 และเทคโนโลยีคิดเป็นร้อยละ 72.89 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนในกรณีที่ต้องทำการบ้าน/รายงานตามที่ครูอาจารย์สั่งบ่อยที่สุดซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.36 รองลงมาร้อยละ 22.23 ระบุว่าในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้เพื่อเตรียมสอบต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.86 และร้อยละ 11.6 ระบุว่าในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เรียนในชั้นเรียนและในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจในชั้นเรียนตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.67 ระบุว่าในกรณีที่ตนเองขาดเรียน/ไม่ได้เข้าชั้นเรียน และกลุ่มตัวอย่างที่เหลือระบุว่าในกรณีที่ครูอาจารย์สอนไม่ทัน/ไม่ได้เข้าสอนในชั้นเรียนคิดเป็นร้อยละ 6.28 เมื่อเปรียบเทียบช่องทางการค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนระหว่างการค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตกับการค้นคว้าผ่านเอกสารในรูปของกระดาษ เช่น หนังสือความรู้ วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 63.12 ยอมรับว่าตนเองค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่า ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 15.43 ระบุว่าค้นคว้าผ่านเอกสารในรูปของกระดาษมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.45 ระบุว่าใช้ทั้งสองช่องทางเท่าๆกัน ส่วนในกรณีที่ไม่เข้าใจ/มีข้อสงสัย/ต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาบทเรียนในชั้นเรียน กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.34 ยอมรับว่าตนเองนิยมค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.19 ระบุว่านิยมสอบถามจากครูอาจารย์ผู้วสอนมากกว่า และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.47 ระบุว่าใช้ทั้งสองวิธีพอๆกัน นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนกับการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนในรอบหนึ่งวัน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.33 ยอมรับว่าตนเองใช้ระบบอินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมอื่นๆมากกว่า ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 17.52 ที่ระบุว่าใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้มากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.15 ระบุว่าใช้เวลาทำทั้งสองอย่างเท่าๆกัน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.92 ยอมรับว่าการค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทำให้ตนเองมีโอกาสได้ติดต่อพบปะกับครูอาจารย์ผู้สอนนอกเวลาเรียนน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.08 ระบุว่าไม่ได้ทให้มีโอกาสติดต่อพบปะกับครูอาจารย์ผู้สอนนอกเวลาเรียนน้อยลง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.95 ระบุว่าตนเองไม่เคยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อคัดลอกข้อมูลประเภท เรียงความ บทความ บทกลอน รายงาน ของผู้อื่นมาใส่เป็นรายงาน/การบ้านของตนเองแล้วนำส่งครูอาจารย์เลย ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.27 ยอมรับว่าเคยบ้างเป็นบางครั้ง และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.78 ยอมรับว่าเคยเป็นประจำ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.23 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูลสาระความรู้ที่ค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก่อนที่จะนำมาบรรจุลงในการบ้าน/รายงานเลย ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ