เอกชนไทยนำทีมขยาย/เชื่อมโยงการค้าประเทศเพื่อบ้าน หวังขับเคลื่อนการค้าชายแดนตามเป้าหมาย

ข่าวทั่วไป Tuesday January 17, 2017 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--หอการค้าไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ AEC จึงได้ให้ความสำคัญกับการค้า การลงทุนกับประเทศสมาชิกในอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญ โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการค้า 25% (รวมอาเซียนทั้งหมด) โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการค้าชายแดน และผ่านแดน ในปี 2560 มีมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการค้าให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการในเชิงรุกเพื่อขยายตลาดการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ซึ่งมีสัดส่วนถึง ประมาณ 8% ของการค้าไทยกับโลก ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่งการค้า 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.59) มีมูลค่ารวม 1,091,663 ล้านบาท (เติบโต 1.27%) โดยเป็นมูลค่าการค้าชายแดน มูลค่า 923,498ล้านบาท (เติบโต 0.44%) จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ภาคเอกจึงตระหนักถึงความสำคัญของตลาดการค้ากลุ่มประเทศ CLMV ภาคเอกชนได้นำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไป นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว (เมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2560) เพื่อร่วมประชุม Loa – Thai Business Forum 2017 ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาการค้า การลงทุนต่างๆ ให้เติบโต อย่างยั่งยืน โดยได้มีการจัด Workshop ระหว่างสองฝ่าย ใน 8 สาขาธุรกิจ ได้แก่ โลจิสติกส์ , การค้าชายแดนและสินค้าอุปโภคบริโภค , การเกษตร , พลังงาน , วัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติและเหมืองแร่ , การท่องเที่ยว บริการ และสุขภาพ , สถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์ , การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ทาง สปป.ลาว ได้ออกกฎหมายใหม่ในการส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้เป็นแบบ One Stop Service โดยได้มุ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษยน์ ซึ่งตรงกับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะร่วมคณะกับรองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เดินทางเยือนเมียนมา ในระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อเจรจาการค้าระหว่างภาครัฐทั้งสองฝ่าย โดยได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้พบปะกับภาครัฐบาลเมียนมา เพื่อหารือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกันในการพัฒนาความร่วมมือด้านการเงินและตลาดทุน สำหรับการเดินทางเยือนในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค (Regional Connectivity) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดน อาทิ การให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเอ็งดู – ตะโถ่ง , เส้นทางสิงขร –มะริด และเส้นทางพุน้ำร้อน – ทวาย ให้อยู่ในสภาพที่ดีเหมาะสมกับการขนส่งระหว่างประเทศได้ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวหากมีการปรับปรุงแล้วเสร็จจะช่วยเชื่อมโยงการค้าของไทยออกไปสู่ประเทศต่างๆได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้ว่า หอการค้าจังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยได้ประเมินความเสียหายต่อสถานการณ์น้ำท่วมว่า 1. หากสถานการณ์น้ำท่วมยุติลงภายใน 1–2 สัปดาห์นี้ ความเสียหายจะอยู่ประมาณ 1–1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.1% ของจีดีพีประเทศ หรือประมาณ 1.25% ของ GRP ภาคใต้ (คิดจาก GDP ประเทศ 14.5 ล้านล้านบาท และ GRP ภาคใต้ 1.2 ล้านล้านบาท) 2. หากสถานการณ์น้ำท่วมกินเวลายาวนานประมาณ 2-3 เดือน ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายสูงถึง 8.5 หมื่นล้าน-1.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5–0.7 % ของจีดีพีประเทศ สำหรับในด้านท่องเที่ยวหอการค้าจังหวัดภาคใต้แจ้งว่าในฝั่งอ่าวไทยได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการจองห้องพักของโรงแรมประมาณ 10-20% โดยปรับแผนการท่องเที่ยวไปยังฝั่งอันดามันแทน เนื่องจากได้รับผลกระทบไม่มาก คาดการณ์ว่าในช่วงสงกรานต์นักท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติ นายวิชัย กล่าวว่า หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดภาคใต้ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาหลังน้ำลด โดยเสนอให้มีการเร่งฟื้นฟูความเสียหายให้เร็วที่สุด และใช้บทเรียนจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ในการบริหารจัดการ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ได้แก่ 1. บูรณาการการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ควบคู่กับการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 2. เสนอให้มีการจัดทำ "ผังน้ำ" ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย หรือพื้นที่ที่เป็นทางไหลผ่านของน้ำ โดยขอความร่วมมือจากประชาชน เพื่อขอกันพื้นที่ทำ Flood Way หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยประชาชนจะกลับเข้ามาบุกรุกในพื้นที่ เกิดการแก้ไขปัญหายาก 3. การเร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยเสนอให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการฟื้นฟูบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะประสานไปยังผู้ประกอบการด้านวัสดุก่อสร้าง เพื่อลงไปช่วยเหลือหรือการจัดหาสินค้าราคาพิเศษ 4. นอกเหนือจากการชดเชยตามปกติแล้ว ควรใช้โอกาสนี้ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตของภาคการเกษตรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 5. เสนอให้มีการจัดแคมเปญด้านการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยหลังสถานการณ์คลี่คลาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ