กสิกรไทยปรับกลยุทธ์รับกระแสฟินเทคมาแรง จับมือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ สร้างโอกาสทางธุรกิจตอบโจทย์ลูกค้าในยุคดิจิทัล

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 19, 2017 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ธนาคารกสิกรไทย กสิกรไทยเกาะกระแสฟินเทคเดินหน้าจับมือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ หวังสร้างโอกาสต่อยอดทางธุรกิจให้ลูกค้าในยุคดิจิทัล ย้ำปัจจัยที่นำพาองค์กรสำเร็จคือการปรับกลยุทธ์องค์กรให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัลและเรื่องคนที่ต้องปรับทัศนคติในการทำงานของบุคลากรให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของดิจิทัลเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ประเทศไทยเท่านั้นแต่มีผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งเห็นได้ว่าแต่ละประเทศใช้ศักยภาพด้านดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมรวมถึงคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ เห็นได้จากภาครัฐมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ภาคการเงินก็เช่นเดียวกัน โลกยุคดิจิทัลได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ (FinTech) ทั้งในและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจหลากหลายประเภท ซึ่งเกิดจากนำระบบการเงินล้ำยุคด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามา ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และยังมีความปลอดภัยในการใช้บริการมากขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก คือ การรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแหล่งเงินทุนที่ดึงดูดนักลงทุนจากนานาประเทศที่ต่างเข้ามามองหาโอกาสทางธุรกิจ ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของอย่างก้าวกระโดดของ GDP ในภูมิภาคนี้สูงเป็นอันดับต้น ๆของโลกและเมื่อผนวกกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (ASEAN+3) ทำให้มีขนาดของ GDP เป็น 1 ใน 4 ของ GDP โลกซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 18.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เอเชียเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเทียบเท่ากับสหภาพยุโรปหรืออเมริกา ธนาคารกสิกรไทยในฐานะสถาบันการเงินที่เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ความท้าทายใหม่ในครั้งนี้ คือ การปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในส่วนของลูกค้าบุคคลและลูกค้าผู้ประกอบการ สำหรับลูกค้าบุคคลผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์มากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการใช้ mobile internet มากกว่าจำนวนประชากร หมายถึงประชากร 1 คนมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง ธนาคารจึงปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างความแตกต่างผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ การเป็นธนาคารแห่งแรกที่ได้ให้บริการบัตรเครดิต ธนาคารบนโทรศัพท์มือถือแห่งแรกของไทยผ่านบริการธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ K-Mobile Banking นอกจากจะเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีแล้วยังเป็นผู้นำในตลาดจากจำนวนผู้ใช้ Mobile Banking เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในส่วนของลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารได้พัฒนาระบบใหม่ ๆ รวมถึงสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ กับพันธมิตรและผู้เล่นรายใหม่ (FinTech) เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ ในปัจจุบันลูกค้าของธนาคารสามารถซื้อขายเงินทุกสกุลในอาเซียนได้ และสามารถโอนเงินหลากหลายสกุลถึงกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านธนาคารตัวแทนหลายธนาคารทำให้สามารถลดระยะเวลาการชำระเงินลดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ ในขณะที่มีความปลอดภัยสูงและยังได้ให้บริการหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee หรือ LG) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลูกค้าธุรกิจออกหนังสือค้ำประกันและต่ออายุผ่านระบบออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจและช่วยลดต้นทุนทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่าย ในด้านธุรกิจในต่างประเทศของธนาคาร จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (FDI) เองมีมูลค่าเทียบเท่ากับตัวเลขของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ไม่สามารถมองข้ามได้ โดยธนาคารได้เตรียมพร้อมในการรองรับการขยายตัวของธุรกิจระหว่างประเทศดังกล่าว จากการเข้าไปตั้งสาขาและสำนักงานตัวแทน การจับมือพันธมิตรทั้งภายรัฐและเอกชนในต่างประเทศกว่า 70 ราย เพื่อนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีต่าง ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจในแต่ละประเทศ นายพิพิธกล่าวในตอนท้ายว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่ธนาคารจะขับเคลื่อนไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล คือ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้รวมถึงการปรับเปลี่ยนภายในองค์กรเอง ทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรบุคคลรวมถึงกระบวนการสรรหาพนักงานซึ่งต้องสรรหาพนักงานให้ตรงกับตำแหน่งงานมากที่สุดและสามารถปรับตามวัฒนธรรมขององค์กรได้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังต้องปรับระบบวัดความสามารถของพนักงาน (KPIs) ให้เหมาะสมและวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและการปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานและองค์กรให้ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ