ส่องอนาคต “ธุรกิจสีเขียว” แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตา

ข่าวทั่วไป Friday January 20, 2017 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.-- "Green Design" ไม่ได้เป็นแค่แฟชั่น ไม่ได้ผ่านมาแล้วก็ผ่านเลยไป แต่กำลังจะกลายเป็น Green Business ที่จะมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของโลก" ...เป็นที่ทราบกันดีว่ากระแสของธุรกิจสีเขียวนั้นมีมานานแล้ว หลากหลายวงการได้นำเอาแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้มากขึ้นและมีความเข้มข้นขึ้น เช่น ระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างโรงงานสีเขียว ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่า "กระแสสีเขียว" หรือ "เทรนด์รักษ์โลก" ได้แผ่ขยายและมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง หากสังเกตดูจะพบว่า รอบๆ ตัวเรานั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน คือ การใส่ใจและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับบุคคลโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และระดับองค์กรก็เช่นเดียวกัน หลายองค์กรได้นำกลยุทธ์สีเขียวมาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ วันนี้เราจะมาดูกันว่า...แนวโน้มการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสีเขียวจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึง Green Business Trend ไว้ในงาน กิจกรรม TGDA: Workshop & Creative Talk "GREEN BUSINESS TREND" ที่จัดขึ้นโดย สถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้จัดการประกวด Thailand Green Design Awards ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสีเขียวในปัจจุบันมีหลากหลายระดับ ดังนี้ MEGA Trend เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในมิติต่างๆ โดยในภาพรวมของทั้งโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากร การเติบโตของสังคมเมือง และการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากร เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย โดยแผนการรับมือที่จะส่งผลกระทบต่อการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด คือ การลดใช้ทรัพยากร และหรือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร MACRO Trend ได้แก่ การเติบโตอย่างสมดุล (Balancing the Growth) เน้นคุณภาพชีวิตที่ดี และการเติบโตแบบไม่สร้างผลกระทบ (Growth with Zero) มุ่งเน้นที่ระบบนิเวศน์เป็นหลัก 3. MICRO Trend แบ่งออกเป็น การเติบโตอย่างสมดุล ซึ่งนำไปสู่แนวโน้มดังนี้ - การกลับสู่ธรรมชาติ (Back to the Root) ก่อให้เกิดแนวโน้มเพื่อสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่ธุรกิจการพึ่งพาตนเอง (Made by Me) ของคนรุ่นใหม่ที่สอดรับกับห่วงโซ่อาหารของโลกและสามารถรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารได้ เช่น อาหารออร์แกนิคและอาหารเพื่อสุขภาพ และธุรกิจการหลอมรวมกับธรรมชาติ (In Sync with Nature) โดยปรับให้ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เช่น ฟาร์มในเมือง - การสอดรับกับระบบรวม (Life Cycle Responsiveness) ก่อให้เกิดแนวโน้มการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ (Biobased direction) เช่น ธุรกิจเสื้อผ้าและบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ และแนวโน้มการใช้งานอย่างคุ้มค่าและยาวนาน (Build to Last) เช่น เฟอร์นิเจอร์ถอดประกอบหรือใช้ซ้ำได้ - การรับมือและเข้าใจภัยพิบัติ (Deal with Disasters) ซึ่งนำไปสู่ธุรกิจการยกระดับคุณภาพชีวิต (Life Enhancement) และชุดการอยู่รอด (Survival Kit) เช่น อากาศบริสุทธิ์อัดกระป๋อง 3.2 การเติบโตแบบไม่สร้างผลกระทบ นำไปสู่แนวโน้มดังนี้ - การเพิ่มค่าจากของเหลือทิ้ง (Waste to Value) มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากส่วนเหลือทิ้งจากทั้งภาคการผลิตและการบริโภค ได้แก่ การสร้างมูลค่าจากความรับผิดชอบ (Value in Responsibility) เช่น การจ่ายเงินเพื่อกำจัดขยะ การสร้างสมดุลการอยู่ร่วมกัน (Symbiosis is the Essence) เช่น การบูรณาการด้วยแนวเศรษฐกิจแบบครบวงจร โดยใช้ของเหลือทิ้งจากสายการผลิตหนึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอื่นๆ และการใช้วัตถุดิบจากมลพิษ (Pollution is Raw is New Mat) - เศรษฐกิจแบบเอื้อเฟื้อแบ่งปัน (Sharing is Caring) มุ่งเน้นการครอบครองที่น้อยลง (Access over Ownership) และการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เป็นการบริการ (Product turns Service) มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ธุรกิจการเช่า - นวัตกรรมส่งเสริมให้เป็นศูนย์ (Innovation to Smart) ได้แก่ วิถีชีวิตผ่านระบบอัจฉริยะ (Smart Lifestyle) และสภาวะของเมืองผ่านระบบอัจฉริยะ (Smart City) นอกจากนี้ ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ อาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงรูปแบบการดำเนินและกลุ่มผู้บริโภคธุรกิจสีเขียว ไว้ว่า "กลุ่มลูกค้าที่สำคัญของธุรกิจสีเขียวมักจะอยู่ในกลุ่มที่ปรับตัวง่าย (Early Adopters) มักชอบแสดงความคิดเห็นและมีอิทธิพลกับลูกค้ากลุ่มอื่นๆ หากไม่มีลูกค้ากลุ่มนี้ ก็จะไม่มีกลุ่มต่อไป โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่ม Trendy Creatives : เป็นกลุ่มที่ชอบความทันสมัย/แปลกใหม่ ตามแฟชั่น ชอบการเล่าเรื่อง มักพบในตลาดกลางหรือวัยรุ่นทั่วไป 2. กลุ่ม Smart Affluents : เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดีและมีกำลังซื้อสูง มีความทันสมัยและเรียบง่าย นิยมซื้อสินค้าใน chain store ที่มีราคาไม่แพง และกลุ่มที่ 3. กลุ่ม Design Purists : เป็นกลุ่มที่เน้นด้านการออกแบบ เป็นกลุ่มที่ตัดสินใจยาก สนใจสิ่งแวดล้อม นิยมซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือ concept store ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเพียงจำนวนร้อยละ 25 ของผู้ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ดังนั้น การสร้างธุรกิจสีเขียวจึงควรให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เน้นประวัติศาสตร์และความทรงจำในอดีต กลุ่มที่ทันสมัยและเน้นเทคโนโลยีและความสะดวกรวดเร็ว กลุ่มนิยมธรรมชาติ และกลุ่มที่ชอบการเดินทางและการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ โดยการผสมผสานกันระหว่างกลุ่มอาจทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นได้ หัวใจสำคัญของธุรกิจ คือ "คุณให้อะไรแก่ลูกค้า และลูกค้าต้องการสิ่งที่คุณให้หรือไม่" หากสิ่งที่นำเสนอแก่ลูกค้าตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ธุรกิจนั้นก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ ดูคลิปการบรรยายย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/TGDA.Thailand/ เรื่องโดย ทีมงาน Thailand Green Design Awards ลิขสิทธิ์ภาพ Thailand Green Design Awards

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ