ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ปี 2560

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 23, 2017 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ทีเอ็มบี โดย ธุรกิจตลาดเงิน ทีเอ็มบี ปัจจัยการเมืองจะมีผลต่อทิศทางตลาดการเงิน นาย ศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดทุน ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี2560 นอกจากปัจจัยพี้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว การเคลื่อนไหวของปัจจัยทางการเมืองจะมีผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดเงิน และตลาดทุน ตัวอย่างจากปี2559 ไม่ว่าจะเป็นผลการลงประชามติเพื่อขอออกจากสมาชิกภาพประชาคมยุโรปของสหราชอาณาจักร (BREXIT) และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา (Mr.Donald Trump) ที่ต่างก็สร้างความประหลาดใจและส่งผลต่อการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและทิศทางตลาดการเงิน ในปีนี้การเคลื่อนไหวของปัจจัยทางการเมืองจะยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในยุโรปจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศไม่ว่าจะในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งในภาวะกระแสชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป ผลการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ในกลุ่ม EU จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกลุ่ม และจะมีนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและเศรษฐกิจโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องจับตามองความสามารถในการดำเนินนโยบายของ Trump ตามที่ได้หาเสียงไว้ว่าจะปฎิบัติได้จริงและมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันตลาดการเงินได้พุ่งความสนใจไปยังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาษี การลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน การลดกฎระเบียบต่างๆ และมาตรการที่กระตุ้นให้บริษัทสหรัฐอเมริกานำเงินกำไรที่อยู่นอกประเทศกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งการคาดหวังในมาตรการเหล่านี้ทำให้ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น และผลตอบแทนตราสารหนี้ในสหรัฐอเมริกาปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกันผู้เกี่ยวข้องในตลาดการเงินยังไม่แน่ใจต่อมาตรการกีดกันการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานว่าจะออกมารุนแรงอย่างที่ Trump หาเสียงไว้หรือไม่ ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะก่อให้เกิดความผันผวน และทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ตลอดปี 2560 สิ้นสุดอัตราดอกเบี้ยต่ำ Donald Trump จะใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ลดภาษี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแตกต่างจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่พึ่งนโยบายการเงินเป็นหลัก ผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำใกล้ 0 % และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (QE Program) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา อัตราการว่างงานที่ต่ำ และTrumpolicy ส่งผลให้ตลาดการเงินมีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในอนาคตจะมีการปรับตัวสูงขึ้น และนโยบายการเงินมีความสำคัญน้อยลง โดยในการประชุม FOMC (Federal Open Market Committee) ของสหรัฐอเมริกา ในเดือนธันวาคม 2559 คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามที่ตลาดการเงินคาดไว้ พร้อมส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปี 2560 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐอเมริการุ่นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 1.36% เมื่อกลางปี 2559 มาอยู่ในระดับ 2.46% ในปัจจุบัน ทีเอ็มบีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ในปี 2560 ขณะที่นโยบายการเงินของกลุ่มประชาคมยุโรปและญี่ปุ่นยังคงผ่อนคลาย (Policy Divergence) ความแตกต่างดังกล่าวจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นแต่ยังไม่กระจายตัว เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวที่ระดับ 3.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3% อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจยังเป็นแรงส่งที่มาจากการลงทุนภาครัฐ และภาคบริการด้านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่มีต่อภาคเอกชนจะยังไม่มีผลมากนักในปีนี้ ในส่วนของภาคการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดน้อยลง เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นของการนำเข้า โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ +2.0% (จาก +0.4% ในปี 2559) เป็นผลจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นเมื่อเทียบกับฐานคำนวณในปีก่อนหน้า โดยที่แรงกระตุ้นจากฝั่งอุปสงค์ (Demand Pull) ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดอกเบี้ยระยะสั้นยังต่ำ แต่ดอกเบี้ยระยะยาวปรับเพิ่ม ทีเอ็มบีคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee - MPC) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับ 1.50% ไปตลอดทั้งปี 2560 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่สภาพคล่องของระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูงแต่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้จะผันผวนและได้รับอิทธิพลจากตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 1.56% เมื่อกลางปี 2559 มาอยู่ที่ระดับ 2.67% ในปัจจุบัน ทีเอ็มบีมองว่ายังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อีก โดยภาพรวมนักลงทุนจะเผชิญกับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงชันขึ้น โดยเฉพาะตราสารระยะกลางถึงยาว (Steepening Yield Curve) ตามการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยสภาพคล่องในระบบจะเริ่มลดลง จากการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และการระดมทุนของภาครัฐผ่านการกู้ยืมและการออกหลักทรัพย์เพื่อรองรับการใช้จ่ายโครงการลงทุน สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ ผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น มองเงินบาทครึ่งหลังของปีมีโอกาสแข็งค่า แต่ผันผวน ที่ผ่านมาตลาดการเงินมีความคาดหวังต่อ Trumpolicy ค่อนข้างสูง รวมถึงการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาต่อนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ดอลล่าร์สหรัฐยังอยู่ในแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี 2560 อย่างไรก็ตาม ยังมีความน่าสงสัยต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายที่ Trump ประกาศไว้ และมีโอกาสสูงที่จะพบอุปสรรคในทางปฏิบัติ และหากนโยบายหลายอย่างไม่เป็นตามที่ตลาดการเงินรับรู้ จะมีผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ กลับตัวอ่อนค่า ประกอบกับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของกลุ่ม EU น่าจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และการเผชิญข้อจำกัดของธนาคารกลางญี่ปุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน จะกดดันให้ค่าเงินยูโรและเงินเยนแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ในส่วนของค่าเงินบาท ทีเอ็มบีคาดว่าปลายปี 2560 จะอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ โดยระหว่างปีมีโอกาสแกว่งตัวอ่อนค่าจากปัจจัยต่างประเทศ แต่ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความชัดเจนทางด้านการเมือง จะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เทรนด์ดิจิทัลแบงก์กิ้งมาแรง นับได้ว่าปี 2560 นี้ ยังคงเป็นปีแห่งความผันผวนทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์รอบด้าน ติดตามข่าวสารสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด โดยทีเอ็มบีพร้อมให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือที่ทำให้การวางแผนบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยให้การยืนยันข้อมูลธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน (E- Confirmation) และการกระทบยอดระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนกับเอกสาร Invoice ของลูกค้าเป็นเรื่องง่าย ผ่านการทำธุรกรรมทางการเงินที่สะดวก ง่าย และปลอดภัยในช่องทางดิจิทัลอย่าง ทีเอ็มบี บิสซิเนส คลิก (TMB Business Click)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ