บกปภ.ช.ประชุมคอนเฟอเรนซ์ติดตามอุทกภัยภาคใต้ กำชับเฝ้าระวังฝนตกต่อเนื่องถึง 25 ม.ค.60 – ย้ำจังหวัดสำรวจความเสียหายด้านต่างๆ เพื่อเร่งเยียวผู้ประสบภัย

ข่าวทั่วไป Monday January 23, 2017 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ภาพรวมอุทกภัยภาคใต้เริ่มคลี่คลาย แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 7 จังหวัดที่ยังมีฝนตกต่อเนื่องจนถึงวันที่ 25 ม.ค.60 ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เน้นย้ำให้จังหวัดสำรวจและตรวจสอบความเสียหายจากอุทกภัยในด้านต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเป็นลำดับแรก เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปอาศัย อยู่ที่บ้านได้ตามปกติโดยเร็ว ส่วนด้านการเกษตร การช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ด้านคมนาคม และระบบสาธารณูปโภค ให้เร่งประเมินความเสียหายและตรวจสอบข้อมูลให้มีความชัดเจนและครบถ้วน เพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้องโดยด่วนต่อไป นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช.ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุม สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวม คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง นราธิวาส ปัตตานี กระบี่ และตรัง ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา ชุมพรประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา แยกเป็น พื้นที่วิกฤต 2 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (อำเภอเคียนซา บ้านนาเดิม พุนพิน) และพัทลุง พื้นที่เฝ้าระวัง 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (บางอำเภอ) นครศรีธรรมราช สงขลา และชุมพร ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝน พบว่า วันที่ 21 ม.ค.60 จะมีฝนหนัก ถึงหนักมากหลายพื้นที่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลาปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนช่วงวันที่ 22 – 25 มกราคม 2560 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร บกปภ.ช. จึงได้กำชับจังหวัดดังกล่าวติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการ เผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช.กล่าวว่า บกปภ.ช.ได้ประสานให้จังหวัดสำรวจและตรวจสอบความเสียหายจากอุทกภัยในด้านต่างๆ โดยด้านที่อยู่อาศัยถือเป็นสิ่งแรกที่ บกปภ.ช. จะเข้าไปดูแล เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านได้ตามปกติ ในเบื้องต้นมีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 212 หลัง เสียหายมาก 393 หลัง เสียหายเล็กน้อย 4,852 หลัง พร้อมให้ระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยปฏิบัติวางแผนในการให้ช่วยเหลือ และซ่อมแซมบ้านเรือนได้อย่างเหมาะสม ในรูปแบบการประสานความร่วมมือผ่านกลไกประชารัฐ ซึ่งมีหน่วยทหารเป็นหน่วยหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง สถานศึกษาอาชีวศึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภาคเอกชน และเจ้าของบ้าน ร่วมกันซ่อมแซมบ้าน โดยแหล่งงบประมาณให้ยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยกรณีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลังจ่ายเงินชดเชยไม่เกิน 33,000 บาท บ้านเสียหายบางส่วนเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินหลังละ 33,000 บาท หากไม่เพียงพอจังหวัดสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณเชิงนโยบายหรือเงินบริจาคของภาคเอกชนเพิ่มเติม ขณะนี้มีชุดช่างที่พร้อมปฏิบัติการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายรวมกว่า 7,500 คน อีกทั้งมีแบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่มากและใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ภาครัฐสนับสนุนการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยแก่ผู้ประสบภัย อย่างไรก็ตาม ขอให้องค์กรปกครองส่วนท่องถิ่นดำเนินการสำรวจความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย เพื่อรวบรวมข้อมูล ส่งให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) เสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ พิจารณาจัดสรรงบประมาณและกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีตามความเหมาะสม ด้านการเกษตร แยกเป็น พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ และประมง ให้จ่ายเงินชดเชยโดยยึดการปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามสภาพความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป ส่วนการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ทุกชีวิตต้องได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าจัดการศพ ทั้งเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ รายละ 25,000 บาท กรณีเป็นหัวหน้าครอบครัวรายละ 50,000 บาท การช่วยเหลือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย รายละ 50,000 บาท มูลนิธิราชประชานุเคราะห์รายละ 10,000 บาท รวมถึงเงินสงเคราะห์ของเหล่ากาชาดจังหวัดและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับด้านคมนาคม ในเบื้องต้น ให้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานหลัก กรณีงบประมาณไม่เพียงพอให้ทำเรื่องเสนอ ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.จ. พิจารณา ความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยใช้เงินทดรองราชการที่ได้ขยายวงเงินให้แล้ว ส่วนแผนระยะต่อไป ให้จังหวัดสำรวจความเสียหายในภาพรวมและเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานรับผิดชอบหลักในแต่ละภารกิจ ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ให้เร่งซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ ให้ประสานองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนอกเขตที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสนับสนุนการช่วยเหลือต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ