ฟิทช์คงเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบสำหรับอันดับเครดิตที่ 'A(tha)’ ของ บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง รอการยืนยันการเพิ่มทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 27, 2017 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ สำหรับอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, 'A(tha)') ในระหว่างรอการยืนยันเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุนใหม่ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการครั้งล่าสุดของบริษัทฯ ฟิทช์คาดว่าจะพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทฯ และยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบได้ เมื่อได้รับข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดของแผนการระดมเงินในการเข้าซื้อกิจการ และได้พิจารณาโครงสร้างเงินทุนใหม่หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วของ SCCC ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จภายในหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้า รายการอันดับเครดิตของบริษัทฯ ทั้งหมดแสดงอยู่ในท้ายรายงานนี้ เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของแผนการเพิ่มทุนของบริษัทฯ ซึ่งแผนการเพิ่มทุนดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินอันเนื่องมาจากการเข้าซื้อกิจการที่ประกาศออกมา โดยจากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับแผนทางการเงินเบื้องต้นของบริษัทฯ แผนการระดมเงินน่าจะมีการใช้ทั้งทุนและหนี้สินเป็นแหล่งเงินทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เข้าซื้อกิจการมา น่าจะช่วยทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ SCCC ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าได้ในปี 2562 นอกจากนี้ สถานะทางธุรกิจของบริษัทฯ ยังมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากการกระจายความเสี่ยงในเชิงภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ฟิทช์ได้ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่อันดับเครดิตของ SCCC หลังจาก SCCC ได้ประกาศจะเข้าซื้อหุ้นบริษัท โฮลซิม (ลังกา) ลิมิเต็ด (HLL) ในสัดส่วนร้อยละ 99 จากบริษัทลาฟาร์จโฮลซิม (LafargeHolcim Ltd., 'BBB/Stable') เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบดังกล่าวยังคงอยู่ต่อเนื่อง หลังจากในเดือนสิงหาคม 2559 บริษัทฯ ได้ประกาศจะเข้าซื้อหุ้นบริษัท โฮลซิม (เวียดนาม) ลิมิเต็ด (HVL) ในสัดส่วนร้อยละ 65 จากผู้ขายรายเดิม โดยการลงทุนทั้งหมดมีมูลค่ารวมประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต โครงสร้างเงินทุนใหม่ – ระดับของการเพิ่มทุนของ SCCC เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทฯ การเข้าซื้อกิจการน่าจะทำให้อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ SCCC อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม แผนการเพิ่มทุนน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวและอาจทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สิน FFO adjusted net leverage ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ 'A(tha)' ในช่วงสองสามปีข้างหน้า ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น – ฟิทช์คาดว่า การกระจายความเสี่ยงของแหล่งที่มาของรายได้ในเชิงภูมิศาสตร์ที่มากขึ้นของ SCCC จะช่วยลดข้อจำกัดจากประเด็นการมีตลาดหลักเพียงตลาดเดียว SCCC มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งโดยการเข้าซื้อกิจการและการลงทุนสร้างกำลังผลิตใหม่ ในประเทศกัมพูชา บังคลาเทศ ศรีลังกา และเวียดนาม สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศน่าจะเติบโตขึ้นเกินระดับ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จาก 6 พันล้านบาทในปี 2558 ซึ่งรายได้จากต่างประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของรายได้รวมในปี 2560 ฟิทช์คาดว่าการโอนถ่ายกิจการน่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากทั้ง SCCC และกิจการทั้งสองที่เข้าซื้อมา ต่างเคยอยู่ภายใต้กลุ่มโฮลซิมและใช้ระบบและกระบวนการดำเนินงานเดียวกันมาก่อน ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง – SCCC เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับร้อยละ 27 โดยวัดจากยอดขาย ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ได้ โดยอาศัยชื่อเสียงของตราสินค้าประเภทปูนซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จที่เป็นที่รู้จักมาเป็นเวลานานของบริษัทฯ แม้ว่าคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศจะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างสูงของบริษัทฯ น่าจะมีส่วนช่วยให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้าเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรง ตำแหน่งทางการตลาดของกิจการที่เข้าซื้อมาก็มีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน โดย HLL เป็นผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวและเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศศรีลังกา ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 37 โดยวัดจากปริมาณการจำหน่ายในปี 2559 ในขณะที่ HVL เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเวียดนามใต้ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 23 โดยวัดจากปริมาณการจำหน่าย การแข่งขันที่สูงส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไร – ฟิทช์คาดว่าการแข่งขันในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศที่รุนแรงจะทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ของ SCCC ลดลงจากความพยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด EBITDA margin ของบริษัทฯ อยู่ที่ระดับร้อยละ 21.7 ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากร้อยละ 23.3 ในปี 2558 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรวมผลการดำเนินงานของกิจการในประเทศบังคลาเทศซึ่งมีอัตราส่วนกำไรที่ต่ำกว่า ฟิทช์มองว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี 2560 เนื่องจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของความต้องการใช้จากการก่อสร้างในหมวดที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ ฟิทช์คาดว่าความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาคเอกชนน่าจะช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้ของบริษัทฯ ในปี 2561 ผลการดำเนินงานมีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงาน – อัตราส่วนกำไรของบริษัทฯ มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาถ่านหินและค่าไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิง และไฟฟ้าโดยทั่วไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ราคาถ่านหินโดยเฉลี่ยได้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 56 ในครึ่งปีหลังของปี 2559 (เทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559) เนื่องจากอุปทานที่ไม่เพียงพอในประเทศจีน ซึ่งอาจจะกดดันความสามารถในการทำกำไรของ SCCC ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าแรงกดดันดังกล่าวน่าจะผ่อนคลายลงในปี 2560 เนื่องจากรัฐบาลจีนมีการผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับการทำเหมืองถ่านหินตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของแผนการเพิ่มทุนของบริษัทฯ ซึ่งอาจจะทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้คงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ 'A(tha)' ได้ อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นของ SCCC จากการเข้าซื้อกิจการ น่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นจากการกระจายความเสี่ยงในเชิงภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การลงทุนดังกล่าวทำให้อัตราส่วนหนี้สิน FFO adjusted net leverage ของบริษัทฯ เพิ่มสูงขึ้น แต่น่าจะสามารถรักษาให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าได้ในสองถึงสามปีข้างหน้า ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินในระดับดังกล่าวยังคงเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (อันดับเครดิตปัจจุบัน 'A(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อย่างไรก็ตาม SCC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่ารวมถึงมีตำแหน่งทางการตลาดในประเทศและการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจที่มากกว่าบริษัทฯ ซึ่งอัตราส่วนหนี้สิน FFO adjusted net leverage ที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตของ SCC ที่ 'A(tha)' คือช่วง 2.75 เท่าถึง 3.75 เท่าอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนหนี้สินของ SCCC อาจจะสูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO (อันดับเครดิตปัจจุบัน 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางมะตอยชั้นนำในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม SCCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า TASCO ด้วยขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าหลังการเข้าซื้อกิจการรวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าทำให้ SCCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า TASCO ประมาณสามเท่า นอกจากนี้ TASCO ยังต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบซึ่งได้แก่น้ำมันดิบเป็นหลักอีกด้วย สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - ปริมาณการขายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2560 และเติบโตในระดับที่สูงขึ้นในปี 2561 - รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 40 – 50 ในปี 2560 ภายหลังจากมีการเข้าซื้อกิจการ บริษัท สยามซิตี้ซีเมนต์ (ลังกา) จำกัด และ HVL - EBITDA margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 22-24 ในปี 2560 - 2561 - อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ประมาณร้อยละ 60 ในปี 2560 - 2561 ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: ปัจจัยที่อาจมีผลทำให้ฟิทช์พิจารณายกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ และคงแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสภียรภาพ - แผนการเพิ่มทุนของบริษัทฯ ส่งผลให้ FFO adjusted net leverage ต่ำกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในสองถึงสามปีข้างหน้า ปัจจัยลบ: - FFO adjusted net leverage สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง - อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สภาพคล่อง ความจำเป็นในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระคืนหนี้สูง: ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 บริษัทฯ มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 20.7 พันล้านบาท โดยในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ใช้สำหรับการเข้าซื้อกิจการจากสถาบันการเงินจำนวน 13 พันล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 4 พันล้านบาท บริษัทฯ วางแผนที่จะชำระคืนหนี้เหล่านี้ โดยการหาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุน ทั้งการออกหุ้นเพิ่มทุนและการออกหุ้นกู้ ความเสี่ยงที่บริษัทฯ จะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพียงพอต่อการชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากบริษัทฯ มีผู้ถือหุ้นที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีประวัติที่ดีในการเข้าถึงเงินทุนผ่านตลาดทุน สภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 2.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปีละประมาณ 8 – 10 พันล้านบาท รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้ SCCC -- คงเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ สำหรับ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ที่ 'A(tha)' - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ ที่ 'A(tha)' - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)'

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ