ASEAN Perspectives การเติบโตของอาเซียนในปี 2560: การขยายตัวในระดับต่ำไม่ใช่ไม่น่าสนใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 14, 2017 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--HSBC โดย นางสาวซู เซียน ลิม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี เปิดศักราชใหม่ เรามาทำความเข้าใจการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2560 ให้ลึกขึ้นอีกหน่อย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของอาเซียน (ASEAN PMIs) ยังคงบ่งชี้ภาคการผลิตโดยรวมที่ไม่คึกคัก ถึงแม้ว่าการส่งออกเติบโตแข็งแกร่งขึ้นเกินความคาดหมายในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม การเติบโตของจีดีพีฟิลิปปินส์ในไตรมาส 4/16 แข็งแกร่งตามคาดที่ร้อยละ 6.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจของสิงคโปร์ออกมาดีกว่าที่คาด ดัชนี PMIs ของประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนธันวาคม โดยพบว่ากิจกรรมภาคการผลิตในมาเลเซียยังคงลดลง ดัชนี PMI ของมาเลเซียยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กิจกรรมภาคการผลิตหดตัวมากขึ้นในอินโดนีเซีย และอยู่ในระดับทรงตัวในสิงคโปร์และไทย ซึ่งดัชนี PMI ปรับตัวดีขึ้นเกินค่ากลางที่ 50.0 จุด เวียดนามและฟิลิปปินส์ยังโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าภาคการผลิตของทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์จะขยายตัวลดลง ดัชนี PMI ยังคงยืนเหนือ 50.0 จุด (ล่าสุดดัชนี PMI เดือนมกราคมกลับมาขยายตัวดีขึ้นทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย) ข้อมูลการค้าหลายประเทศแข็งแกร่งเกินคาดหมาย ณ สิ้นปี 2559 ทั้ง ๆ ที่ภาคการผลิตหดตัว การส่งออกในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เทียบกับปีก่อนในเดือนธันวาคม เกินกว่าคาดการณ์ที่ร้อยละ 14 สำหรับในมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน การส่งออกปรับตัวดีขึ้นเกือบร้อยละ 8 เทียบกับปีก่อนในเดือนพฤศจิกายน ตามด้วยการหดตัวในเดือนตุลาคม ขณะเดียวกันในสิงคโปร์ การส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันเติบโตร้อยละ 9.4 เทียบกับปีก่อน การเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 4/16 เท่าที่ผ่านมาก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาส 4/16 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามคาดการณ์ของตลาดส่วนใหญ่ ทำให้การเติบโตทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 ส่วนในสิงคโปร์ รายงานการเติบโตของจีดีพีในระยะข้างหน้าบ่งชี้ถึงการขยายตัวที่แข็งแกร่งเกินคาดที่ร้อยละ 1.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากการที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 เทียบกับปีก่อน การเติบโตที่แท้จริงในไตรมาส 4/16 จึงแข็งแกร่งขึ้น ธนาคารกลางหลายแห่งยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในเดือนมกราคม ทั้งธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางมาเลเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.75 และร้อยละ 3.00 ตามลำดับ โดยทั้งสองแห่งดูเหมือนจะมองการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นบวกมากขึ้น เรามองว่ายังมีโอกาสที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในไตรมาส 1/17 แม้ว่าความเป็นไปได้นั้นจะไม่ได้สูงมากยังมีโอกาสที่จะเห็นการลดสัดส่วนการสำรองเงินฝากทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เนื่องจากธนาคารกลางทั้งสองแห่งต้องการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และการเติบโตของเศรษฐกิจ ASEAN Growth Outlook การเติบโตจีดีพีโดยเฉลี่ยของอาเซียนน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ในปีนี้ ไม่แตกต่างมากจากเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาแต่การเติบโตในระดับต่ำไม่ได้หมายความว่าไม่มีประเด็นน่าสนใจ ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีระดับการบริโภคและการลงทุนที่สูง ขณะที่ในมาเลเซียและไทยค่อนข้างอ่อนแอในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ เราคิดว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียดูสดใสในรอบด้านมากที่สุด เป็นผลจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับต่ำ และการขาดดุลทางการคลังที่ยังบริหารจัดการได้ สำหรับทั้งภูมิภาคอาเซียน การส่งออกภาคบริการและการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป การเติบโตของจีดีพี: อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0 เป็นปีที่ 4 การเติบโตของจีดีพีในอาเซียนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0 กลาง ๆ ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยมีแนวโน้มจะเติบโตในระดับนี้ในปี 2561 ด้วย เราคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนหลังถ่วงน้ำหนักจีดีพีของ 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนามแล้ว จะอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ในปี 2560 และร้อยละ 4.5 ในปี 2561 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2552 ทั้งนี้ ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์การเติบโตของทั้งเอเชียในช่วง 2 ปีข้างหน้าที่ร้อยละ 4.9 ถึงแม้ว่าจะใกล้เคียงเมื่อหักลบจีนและญี่ปุ่นออกไป อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวโน้มการเติบโตในระดับต่ำและไม่โดดเด่นของอาเซียน สถานการณ์ภายในอาเซียนเองมีความแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วของสิงคโปร์มีแนวโน้มขยายตัวต่ำที่สุดในปีนี้ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งเป็นภาพเดียวกันกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตเพียงร้อยละ 1.2 ส่วนกลุ่มที่เติบโตใกล้เคียงกันในเกณฑ์เฉลี่ย ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 3-5 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งมากขึ้น ได้แก่ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 6.4 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ (แผนภูมิที่ 2) จากคาดการณ์ของเรานี้ เวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นเพียงสองแห่งในอาเซียนที่เศรษฐกิจจะเติบโตสูงกว่าแนวโน้มในระยะยาวเล็กน้อย ดังนั้น กำลังการผลิตส่วนเกินที่ลดลงเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มเงินเฟ้อ อย่างเช่น แม้เราไม่คิดว่าเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์จะเร่งตัวขึ้นไปเกินกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางที่อยู่ในช่วงร้อยละ 2-4 แต่เงินเฟ้อในปี 2560 มีแนวโน้มจะเข้ากรอบบนโดยค่าเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ทำไมคาดการณ์การเติบโตของอาเซียนจึงมีความแตกต่างกันมาก เศรษฐกิจอาเซียนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับทรงและยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากอุปสงค์ภายนอก การเติบโตที่แตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจใดมีความแข็งแกร่งด้านการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนมากกว่า (แผนภูมิที่ 3) ถึงแม้ว่าเราคาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศของอาเซียนจะชะลอลงไปอยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 4.4 ในปีนี้ และการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นสองเท่าจากร้อยละ 0.7 เป็นร้อยละ 1.5 แต่ยังคงเป็นอัตราการเติบโตที่อ่อนแอหากเปรียบเทียบข้อมูลในอดีต (แผนภูมิที่ 4) ความอ่อนแอของการบริโภคในมาเลเซียและไทย เมื่อดูเป็นรายประเทศแล้ว จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยและมาเลเซียที่มีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจอื่นๆในอาเซียนอย่างก็มีแนวโน้มจะฉุดรั้งการเติบโตของอุปสงค์ในอาเซียนในภาพรวมเช่นกัน การบริโภคภาคเอกชนของไทยคาดว่าจะเติบโตลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในปีนี้ เนื่องจากกรอบการใช้จ่ายเข้าสู่ระดับปกติหลังจากที่ขยายตัวสูงจากฐานต่ำที่ร้อยละ 3.1 ในปี 2559 (แผนภูมิที่ 5) อุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นในปีที่แล้วจากสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นไม่น่าจะส่งผลบวกในอัตราที่เท่ากันในปีนี้ เป็นผลจากการเติบโตของค่าจ้างแรงงานที่แทบจะไม่สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ (แผนภูมิที่ 6) การลดหย่อนภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นสำหรับปี 2560 จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ไม่มากนัก แต่จะลดภาระภาษีของผู้ที่มีรายได้ปานกลางได้ระดับหนึ่ง และช่วยผู้ที่มีรายได้น้อยได้เล็กน้อย ในขณะเดียวกัน เราอาจจะเห็นการชะลอตัวที่มากกว่าเดิมขึ้นของการบริโภคในมาเลเซีย จากร้อยละ 5.6 ในปี 2559 มาเป็นร้อยละ 3.7 ในปีนี้ การเติบโตของค่าจ้างเริ่มอ่อนแรงลง และเห็นการอ่อนตัวของตลาดแรงงานมากขึ้น (เราเห็นสัญญาณนี้ในไทยและสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงานของไทยและสิงคโปร์ยังคงต่ำที่สุดในอาเซียน) ทั้งนี้ เป็นเวลา 2 ปีแล้วที่อัตราการว่างงานของมาเลเซียค่อย ๆ ขยับสูงขึ้นทีละน้อยโดยไปอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ณ เดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นระดับที่สูงในรอบหลายปี (แผนภูมิที่ 7) การเบิกจ่ายเงินแก่ข้าราชการประจำและข้าราชการที่เกษียณอายุในเดือนมกราคม และการประกาศเลือกตั้งแบบกะทันหันที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีแรกของ 2560 น่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ชั่วคราว แต่เงินริงกิตมาเลเซียที่อ่อนแอและระดับหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานเป็นปัจจัยที่มีโอกาสทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแย่ลง (แผนภูมิที่ 8) ถึงแม้ว่าโมเมนตัมการกู้ยืมช้าลง แต่หนี้ครัวเรือนของมาเลเซียยังจะต้องบริหารจัดการให้สอดคล้องกับการชำระหนี้ ซึ่งคิดเทียบเท่าเป็นเกือบร้อยละ 90 ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดทั้งในอาเซียน และในเอเชียด้วย หนี้ครัวเรือนของไทยและสิงคโปร์ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 75-80 ของจีดีพี ตรงกันข้ามกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในอินโดนีเซียและเวียดนามที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าอินโดนีเซียจะเพิ่มจากร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 5.2 และเวียดนามจะเพิ่มจากร้อยละ 5.9 เป็นร้อยละ 6.4 การบริโภคในฟิลิปปินส์คาดว่าจะขยายตัวเร็วขึ้นอย่างค่อนข้างน่าพอใจที่ร้อยละ 7.1 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 7.3 โดยมีปัจจัยหนุนจากการเลือกตั้ง การขยายตัวของการบริโภคในประเทศเหล่านี้ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยหนี้ครัวเรือน (ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพี) เป็นหลัก ดังที่เห็นในรูปที่ 5 และ 6 การบริโภคจะยังคงมีปัจจัยสนับสนุนอื่นเช่น ตลาดแรงงานและภาวะค่าจ้างที่แข็งแกร่ง การจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟิลิปปินส์และเวียดนามยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าอุปสงค์ในตลาดโลกจะอ่อนแอ และแม้ว่าการจ้างงานที่เพิ่มนั้นจะมาจากธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคในฟิลิปปินส์จะยังคงมาจากการส่งเงินกลับของผู้ใช้แรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ (overseas Filipino workers: OFW) หากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถเร่งตัวสู่ระดับร้อยละ 2.3 ในปี 2560 และร้อยละ 2.7 ในปี 2561 ดังที่เราคาด (จากร้อยละ 1.6 ในปี 2559) ปริมาณเงินส่งกลับประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้แรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่มีศักยภาพ และอานิสงส์จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนเร่งเครื่องในเวียดนามและฟิลิปปินส์ เราคาดว่าเวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นสองประเทศที่นอกจากจะมีอัตราการขยายตัวของการบริโภคเร็วที่สุดแล้ว ยังมีการเติบโตของการลงทุนที่เร็วที่สุดด้วย แต่ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่สุดของการลงทุนที่แข็งแกร่งของทั้งสองประเทศ คือ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเร่งด่วน เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังเพิ่มเป้าหมายการขาดดุลการคลังเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีในปีนี้ โดยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพี การลดขาดดุลทางการคลังในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ช่วยให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายในช่วงต่อไปได้ และระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายจะยั่งยืนได้ในช่วงนี้ ขณะที่เวียดนามกลับมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากดัชนีชี้วัดด้านหนี้สาธารณะและด้านการคลังเข้าใกล้ระดับที่น่าเป็นห่วงท่ามกลางรายได้รัฐจากน้ำมันที่ลดต่ำลง และการลดสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐในรัฐวิสาหกิจที่ช้ากว่าแผน การส่งออกยังคงต้องระมัดระวัง เราคาดว่าการขยายตัวที่แท้จริงของการส่งออกในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 1.5 แต่ก็ยังอ่อนแอกว่าในอดีตมาก (แผนภูมิที่ 11) ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ระบุว่าการส่งออกของอาเซียนถึงจุดต่ำสุดแล้วตั้งแต่ปี 2559 (แผนภูมิที่ 12) แต่กลับบ่งชี้ว่าอย่าคาดหวังว่าการส่งออกจะเร่งตัวกลับมาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ไม่น่าตกใจนักเมื่อพิจารณาถึงคาดการณ์การเติบโตในระดับต่ำในอาเซียน (ซึ่งอาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของตัวเอง) และญี่ปุ่น บวกกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในระดับประมาณ 6.5% และเศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวช้าลง ทั้งนี้ เมื่อรวมอาเซียน ญี่ปุ่น จีน และยูโรโซนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญเข้าด้วยกัน มูลค่าตลาดส่งออกคิดเป็นกว่าร้อยละ 57 ของการส่งออกของเศรษฐกิจในอาเซียน ซึ่งหมายความว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 11 ของการส่งออกสินค้าของอาเซียนจะไม่สามารถชดเชยกับแนวโน้มอุปสงค์ที่อ่อนแอได้ นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าในสหรัฐฯ ที่มีความเป็นได้ว่าจะเพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่าอาเซียนจะได้ประโยชน์น้อยกว่าที่คาดว่าจะได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ