บกปภ.ช. ลดระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 2 - มอบผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับและควบคุมการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย เร่งรัดการช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้

ข่าวทั่วไป Wednesday February 15, 2017 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยทุกจังหวัด ที่ประสบอุทกภัย สถานการณ์คลี่คลายแล้วและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เพื่อปรับสภาพระบบสาธารณูปโภค การดำรงชีพและความเป็นอยู่ ของประชาชน จึงประกาศลดระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) และมอบให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด เป็นผู้สั่งการควบคุม และบัญชาการในพื้นที่ เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งมอบภารกิจการกำกับและควบคุมพื้นที่ของ บกปภ.ช. (ส่วนหน้า) ให้แก่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ส่วนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายและการให้ความช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ ได้เร่งรัดให้ หน่วยปฏิบัติดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วตามนโยบาย ของรัฐบาล และกรอบระยะเวลาที่กำหนด พร้อมประสานทุกภาคส่วนถอดบทเรียนการบริหารจัดการสาธารณภัยกรณีอุทกภัยภาคใต้ เพื่อวางระบบการจัดการสาธารณภัยของประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้กองบัญชาการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกปภ.ช.ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทุกจังหวัด โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย เพื่อปรับสภาพระบบสาธารณูปโภค การดำรงชีพและความเป็นอยู่ ของประชาชน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว ตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และแนวทางของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น บกปภ.ช. จึงได้ประกาศลดระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 โดยมอบให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด เป็นผู้สั่งการควบคุมและบัญชาการในพื้นที่ เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา ส่งมอบภารกิจการกำกับและควบคุมพื้นที่ให้แก่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และหากจังหวัดใดจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบสนับสนุนการปฏิบัติงานตามที่ผู้อำนวยการจังหวัดร้องขอ ซึ่ง บกปภ.ช. (ส่วนกลาง) จะยังคงกำกับ ติดตาม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการจังหวัดและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงการฟื้นฟูด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ เส้นทางคมนาคม ระบบนิเวศน์ และสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งนี้ ในส่วนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย และการให้ความช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ อาทิ การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ รวมถึงการฟื้นฟูโครงสร้างด้านการคมนาคม บกปภ.ช.ได้เร่งรัดให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วตามนโยบายของรัฐบาลและกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยกำชับให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาล โดย บกปภ.ช. ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ การบูรณาการเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นตามกรอบของแผนป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศเป็นระบบและมีเอกภาพ รวมถึงผู้ประสบภัยได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน หน่วยสนับสนุน การปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ดำเนินการถอดบทเรียนการบริหารจัดการสาธารณภัยกรณีอุทกภัยภาคใต้ เพื่อวิเคราะห์และประเมิน การทำงาน ปัญหาและอุปสรรค ปัจจัยความสำเร็จ และข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสาธารณภัย และนำไปสู่การวางระบบการจัดการสาธารณภัยของประเทศที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะได้สรุปข้อมูลนำเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ