เกษตรฯ เร่งแผนจัดระบบแปลงใหญ่สวนส้มหลังยึดคืนพท.ส.ป.ก. อ.ฝาง จากผู้ครอบครองสวนส้มเดิม เนื้อที่รวม 5,960 ไร่ เตรียมจัดสรรให้เกษตรกรตามนโยบาย คทช. ให้เกษตรกรที่ยากไร้ขาดที่ดินทำกินในรูปแบบสหกรณ์

ข่าวทั่วไป Sunday February 19, 2017 12:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย สวนส้ม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ว่า การดำเนินการยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่ง หน.คสช. ที่ 36/2559 ใน จ.เชียงใหม่ พื้นที่เป้าหมาย จำนวน 5 แปลง เนื้อที่6,363 ไร่ ผลการดำเนินการยึดคืน พบว่า ได้ยึดคืนเป็นที่ดิน ส.ป.ก. เนื้อที่ 6,305 ไร่คืนให้ผู้ครอบครอง เนื้อที่ 58 ไร่ โดยแผนการจัดให้เกษตรกรจะจัดเป็นรูปแบบแปลงใหญ่ 5 แปลง เนื้อที่5,960 ไร่ กำหนดแล้วเสร็จใน เม.ย. 60 และจัดให้เกษตรกรที่ครอบครองเดิม เนื้อที่ 345 ไร่ ซึ่งขณะนี้กองทัพบก ได้อนุมัติหลักการให้หน่วยทหารช่างสนับสนุนการปรับพื้นที่แล้ว ประกอบด้วย สวนส้มธนาธร 2,144 ไร่ สวนส้มเชียงใหม่มิตรเกษตร 3,287 ไร่ สวนส้มอมรมิตร 502 ไร่ พื้นที่ว่างเปล่า 27 ไร่ สำหรับการดำเนินการพัฒนาจัดสรรสวนส้มที่ยึดคืนได้ จะแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งเริ่มจากพื้นที่ว่างเปล่า แต่สวนส้มนี้มีความพร้อมทุกด้าน เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรสามารถมีรายได้ทันที โดยหน่วยงานของรัฐต้องเข้ามากำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร ต้องมาเสริมความรู้ในการทำการเกษตร เนื่องจากพื้นที่สวนส้มมีความพร้อมมาก ทั้งต้นส้ม แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ อาคาร ถนน และอื่น ๆ ซึ่งผู้ครอบครองเดิม คือ สวนส้มธนาธร สวนส้มเชียงใหม่มิตรเกษตร และ สวนส้มอมรมิตร ยินดีที่จะสละพื้นที่พร้อม สวนส้มและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดสรรตามนโยบาย คทช. โดยพื้นที่สวนส้มนี้จะจัดให้เกษตรกร 600 ราย ในรูปแบบสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งผู้ครอบครอง เดิมจะเข้ามาดูแลในเรื่องการรับซื้อผลผลิต เป็นความร่วมมือแบบประชารัฐ แบ่งพื้นที่เป็น 5 ชุมชน ชุมชนละ 100 - 150 ราย เพื่อไม่เกิดการกระทบกระทั่งกันในชุมชน การจัดที่ดิน จัดเป็นที่พักอาศัย รายละ 1 ไร่ รวม 600 ไร่ ต้องรื้อสวนส้มเดิมออก หากไม่รื้ออกอาจจะเกิดโรค ระบาดในสวนส้มได้ และจัดเป็นพื้นที่การเกษตร รายละ 4.5 - 6.0 ไร่ รวม 3,200 ไร่ โดยยึดแนวต้นส้ม และ ระบบ กระจายน้ำที่มีอยู่เดิม เป็นหลัก จัดเป็นพื้นแปลงรวม รวม 639 ไร่ จัดเป็นแนวเขตป้องกันอันตรายจากสารเคมี (Buffer Zone) ซึ่งต้องฉีดพ่นทุกสัปดาห์ ระยะ 30 ม. รวม 280ไร่ ซึ่งจะปลูกต้นไผ่ 20 ม. เพื่อกันการกระจายของสารเคมี จัดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง (อาคาร/ถนน) รวม 660 ไร่ จัดเป็นแหล่งน้ำ รวม 442 ไร่ พื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ (RF) รวม 139 ไร่ "สวนส้มเป็นเรื่องที่มีเทคนิคเฉพาะ ทั้งการปลูก การดูแล การตลาด ดังนั้น จึงต้องประสานกับผู้ที่ครอบครองเดิม เข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะประชารัฐ เพื่อรองรับเรื่องการตลาด ต้องให้ความสำคัญของการจัดเกษตรกร ต้องจัดเกษตรกรที่มีความพร้อม มีความใฝ่รู้ ต้องพิจารณาเกษตรกรที่ทำอยู่เดิม ซึ่งมีความรู้ความชำนาญ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง กระจายไปในทุกกลุ่ม เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร การวางระบบน้ำทั้งท่อน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ต้องแบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจน ผู้ครอบครองเดิม ผลผลิตส่วนหนึ่ง ต้องแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับการดูแล/ซ่อมบำรุงรักษาระบบ ต้องเตรียมการ หากผู้ครอบครองเดิมไม่สามารถอยู่เป็นพี่เลี้ยงได้ หรือ ไม่สนับสนุนด้านการตลาดได้ สวนส้มต้องดำรงอยู่ เพื่อให้เกษตรกรที่อาชีพมีรายได้ที่ยั่งยืน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยระบบสหกรณ์ ทั้งหมดจะดำเนินการให้เสร็จภายใน เม.ย. 60 ซึ่งจากเดินทางลงมาดูพื้นที่ และ ติดตามการแก้ปัญหามา อย่างต่อเนื่องมีความมั่นใจ ทั้งนี้ จะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในการแจกเอกสารสิทธิให้เกษตรกรอีกด้วย" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ