กรมประมงเสริมความมั่นใจให้ผู้บริโภค เผยข้อมูลการใช้ฟอร์มาลีนที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ทางการประมง

ข่าวทั่วไป Monday February 20, 2017 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--กรมประมง จากกรณีที่มีกระแสข่าวการใช้ฟอร์มาลีนในสัตว์น้ำเพื่อช่วยรักษาความสด และคงคุณภาพไว้ให้เก็บรักษาได้นาน จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความหวั่นวิตกถึงอันตรายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในวงการอุตสาหกรรมสัตว์น้ำอย่างมากนั้น นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงข้อมูลในกรณีดังกล่าวว่า ฟอร์มาลีน (Formalin) หรือที่หลายคนเรียกว่าน้ำยาฉีดศพ ไม่ได้เป็นสารต้องห้าม หรือสั่งระงับไม่ให้เกษตรกรใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากสารดังกล่าวมีประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน กำจัดเชื้อปรสิต และเชื้อราภายนอกที่เกิดขึ้น ในระหว่างการเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น แต่การใช้ต้องอยู่ในปริมาณความเข้มข้นต่ำมาก โดยอัตราส่วนที่เหมาะสม คือ 25 - 50 พีพีเอ็ม แช่ตลอด หรือ 100 – 200 พีพีเอ็ม แช่นาน 30 นาที – 1 ชั่วโมง โดยมีข้อควรระวังในการใช้คือ 1. ควรมีเครื่องเพิ่มอากาศในน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจน 2. ควรใช้ในช่วงเวลาที่มีแสงแดด 3. ไม่ควรใช้ฟอร์มาลีนร่วมกับด่างทับทิม เพราะจะทำให้มีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำสูง 4. ไม่ใช้ฟอร์มาลีนที่เสื่อมคุณภาพ โดยฟอร์มาลีนที่ปกติมีลักษณะใส ไม่มีสี หากมีตะกอนสีขาวไม่ควรนำมาใช้เพราะมีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำสูง 5. ไม่ใช้ฟอร์มาลีนปลอมหรือผิดมาตรฐาน เนื่องจากประสิทธิภาพการใช้งานต่ำและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และ 6. ควรเก็บไว้ในภาชนะทึบแสง หรือเก็บไว้ในที่ที่ไม่ถูกแสงโดยตรง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ฟอร์มาลีนเป็นสารที่ระเหยได้ง่าย สลายไปในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อใช้ในการป้องกันและกำจัดเชื้อปรสิตในระหว่างการเลี้ยง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องไม่ใช้สารฟอร์มาลีนในสัตว์น้ำก่อนจับจำหน่ายโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้มีสารตกค้างในสัตว์น้ำ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบฟอร์มาลีนในเนื้อสัตว์น้ำที่จำหน่ายเพื่อการบริโภค จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รองอธิบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า สารฟอร์มาลีนที่ใช้ในทางการประมงจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 2 อยู่ในการควบคุมของกรมประมง ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งต้องมีการขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง โทรศัพท์ 0 2579 4122 ในวันและเวลาราชการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ