อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพลง และซอฟต์แวร์ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เสนอ USTR ปรับสถานะ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้ดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2017 08:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพลง และซอฟต์แวร์ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เสนอ USTR ปรับสถานะ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้ดีขึ้น พอใจการดำเนินมาตรการของไทย นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า. ตามที่มีข่าวว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและอาชญากรรมสากล รวมถึงการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดที่อาจเชื่อมโยงหรือเป็นแหล่งเงินได้ขององค์กรดังกล่าว เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด คอร์รัปชัน อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประเทศไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งสหรัฐฯ ได้ใช้กฎหมายการค้ามาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ในการประเมินจัดอันดับการคุ้มทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าเป็นมาตรวัดโดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะรับฟังและประมวลความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ข้อมูลของรัฐบาลประเทศคู่ค้า และภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ หลังจากนั้นก็จะประกาศสถานะ หรือจัดอันดับของประเทศคู่ค้าในช่วงปลายเดือนเมษายนของทุกปี จากเอกสารความคิดเห็นของภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ ที่ส่งให้ USTR ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ให้ความเห็นในเชิงบวกต่อนโยบายและมาตรการของไทย คือ กลุ่มภาคเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์สหรัฐฯ 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มพันธมิตรทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) ที่ประกอบด้วย ค่ายภาพยนตร์ฮอลลิวูด ค่ายเพลงชั้นนำของโลก บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านบันเทิง และเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ และ (2) กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (BSA) ที่ประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ได้ เสนอให้ปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นจากประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ในปีนี้ โดย IIPA พอใจที่ไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ให้ครอบคลุมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน การกำหนดแผนที่นำทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Roadmap) ที่รวมถึงเรื่องการป้องปรามการละเมิด และการสนับสนุนให้ภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทำในไทยโดยการคืนเงินค่าใช้จ่ายร้อยละ 20 ให้แก่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ในขณะที่ BSA พอใจการประสานงานร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีภาคเอกชนกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มพันธมิตรต่อต้านการปลอมระหว่างประเทศ (IACC) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งสหรัฐฯ (PhRMA) และองค์กรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO)ที่เสนอให้คงสถานะไทยในบัญชี PWL โดยต้องการให้ไทยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้น เช่น การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรที่ครอบคลุมมากขึ้น การให้ความคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยาอย่างเข้มงวด และการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น นายทศพลฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ว่า ผลการจัดอันดับสถานะทรัพย์สินทางปัญญาไทยของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในปลายเดือนเมษายนนี้จะออกมาอย่างไร ขอเรียนว่า หน่วยงานภาครัฐของไทย ได้บูรณาการและร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่.ในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ค้าและนักลงทุน รวมถึงเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่มุ่งขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นสำคัญ โดยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสมถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนโยบายนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ