NIDA Poll การปรองดอง และความขัดแย้งของคนในชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2017 08:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การปรองดอง และความขัดแย้งของคนในชาติ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 17 กุมภาพันธ์ 2560 กรณีศึกษาจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปรองดอง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ "ป.ย.ป" และความขัดแย้งของคนในชาติ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากการสำรวจเมื่อถามถึงการยอมรับของประชาชน หากการเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก เนื่องจากรัฐบาลและ คสช. กำลังหารือกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับการปรองดองอยู่ในขณะนี้ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.28 ระบุว่า ยอมรับได้ ขณะที่ ร้อยละ 21.68 ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ และร้อยละ 7.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรองดองที่รัฐบาล และคสช. กำลังหารือกับทุกฝ่ายอยู่ในขณะนี้ ว่าเป็นเกมส์การเมืองของรัฐบาลและ คสช. ที่ต้องการรักษาอำนาจ ยึดติด ต่อรองอำนาจทางการเมือง หรือ ความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงโดยปราศจากเกมส์การเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.72 ระบุว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลและ คสช. ที่จะปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงโดยปราศจากเกมส์การเมือง ขณะที่ ร้อยละ 23.92 ระบุว่า เป็นเกมส์การเมืองของรัฐบาลและ คสช. ที่ต้องการรักษาอำนาจ ยึดติด ต่อรองอำนาจทางการเมือง และร้อยละ 17.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองว่าจะสามารถช่วยลดความขัดแย้งของคนในชาติได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.32 ระบุว่า ได้ โดยประชาชนให้เหตุผลว่า เพราะความปรองดอง ช่วยทำให้คนในชาติมีความเข้าใจกันมากขึ้น เกิดความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียว มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นความตั้งใจของรัฐบาลและ คสช. ที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งได้เชิญหลาย ๆ ฝ่ายมาหารือและพูดคุยครึ่งทางแล้ว น่าจะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น และที่ผ่านมาได้มีการวางกรอบและแนวทางการสร้างความปรองดองไว้แล้ว ทุกฝ่ายน่าจะเย็นลงและไม่ต้องการเห็นประเทศกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก และมีความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ ร้อยละ 24.72 ระบุว่า ไม่ได้ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ไม่ได้นั้น ให้เหตุผลว่า เพราะบุคคลที่เข้ามาเป็นคนกลางในการขับเคลื่อนการสร้างความปรองดอง ยังไม่มีความยุติธรรม หรือความเป็นกลางพอ รวมไปถึงการใช้อำนาจในการจัดการปัญหาความขัดแย้งยังไม่เด็ดขาด และในสังคมยังมีบางกลุ่มที่ยังมีความขัดแย้ง เห็นพ้องต่างทางความคิดเห็นและมุมมองอยู่ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับและไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่ยอมอ่อนข้อให้กัน ยังมีการหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง มีความเหลื่อมล้ำสองมาตรฐาน น่าจะแก้ไขได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตาม จิตสำนึกของคนไทยชอบทำอะไรตามใจตนเอง และบางส่วนไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ และร้อยละ 10.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความขัดแย้งของคนในชาติอย่างที่ผ่าน ๆ มา ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ภายหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นตามโรดแมป ของ คสช. ที่วางไว้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.32 เชื่อว่า จะเกิดความขัดแย้งอีก เพราะ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ต่างคนต่างมีอำนาจ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ถึงแม้ว่าไม่ใช่รัฐบาล คสช. แต่เป็นรัฐบาลชุดอื่น มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ความเห็นไม่ตรงกัน มีการขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ก็เกิดความขัดแย้งเหมือนเดิมอยู่ดี แต่อาจจะมาในรูปแบบใหม่ ขณะที่พรรคการเมืองเดิม ๆ คนเดิม ๆ ยังคงอยู่ ต้องมีทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งเป็นของคู่กันมาโดยตลอด ขณะที่ ร้อยละ 25.76 เชื่อว่า จะไม่เกิด ความขัดแย้งอีก โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลชุดนี้ได้วางแนวทางในการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมารู้สึกว่าบ้านเมืองมีความสงบขึ้น ผู้คนมีความรักชาติ เกิดความสามัคคีมากขึ้น ไม่ทะเลาะกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นทำให้ได้ผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับการยอมรับมากขึ้น น่าจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองลงได้ และร้อยละ 19.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.08 มีภูมิลำเนา อยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 54.72 เป็นเพศชาย ร้อยละ 45.12 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 6.00 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 14.48 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.04 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 37.20 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.16 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 94.80 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.48 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.36 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 23.92 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 68.64 สมรสแล้ว ร้อยละ 6.08 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุสถานภาพ การสมรส ตัวอย่างร้อยละ 31.12 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.92 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.28 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.08 จบการศึกษาปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.68 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.08 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.72 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.24 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.28 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.60 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.16 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.08 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.84 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.00 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.88 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ