บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2017 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเทศกาลแห่งความรัก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแสดงนิทรรศการศิลปะจากขยะพลาสติก "Heart for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก" เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้ตื่นตัวต่อปัญหาการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ที่ส่งผลกระทบต่อท้องทะเล พร้อมชม ศิลปะจัดวาง (Art Installation) "Blue Ocean สาส์นจากทะเล" และนิทรรศการภาพถ่ายที่สะท้อนปัญหาขยะพลาสติกจากในเมือง ชายหาด และใต้ท้องทะเล ศิลปะจัดวาง (Art Installation) "Blue Ocean สาส์นจากทะเล" ขนาดใหญ่กว่า 3.5x5 เมตร ได้ถูกออกแบบให้เป็นเสมือนท้องทะเล รายล้อมไปด้วยสัตว์ทะเลและปะการังนานาชนิด จากผลงานการออกแบบของ อาจารย์ป้อม ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ( Eco Artist) ที่ใช้วัสดุส่วนหนึ่งมาจากขยะชายหาด 5แห่ง คือ หาดไม้ขาว หาดกะรน หาดบางแสน เกาะเสม็ด และเกาะสีชัง และจากขยะในครัวเรือน "แรงบันดาลใจของการออกแบบผลงานชิ้นนี้เกิดจากความต้องการบอกเล่าเรื่องราวของที่มนุษย์กระทำต่อพื้นดินและแผ่นน้ำ ความเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคต ที่มนุษย์บริโภคพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จนบางส่วนหลุดรอดลงสู่ทะเล ทำให้สัตว์น้ำบางชนิดกินเข้าไปเพราะเข้าใจผิดว่ามันคืออาหาร จนส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านระบบนิเวศทางทะเลในอนาคต" ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ ศิลปินผู้ออกแบบศิลปะจัดวางกล่าว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรเป็นอันดับที่ 6 ของโลก(1) และจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษในปี 2558(2)พบว่าปี2558 ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกร้อยละ 80 หรือ 5,300 ตันต่อวัน นอกจากขยะพลาสติกจะทำลายความสวยงามและทัศนียภาพของท้องทะเลแล้วยังส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเพราะเมื่อขยะพลาสติกลอยปะปนอยู่ในทะเล ทำให้ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารเลยกินเข้าไป ซึ่งขยะพลาสติกถือเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตของสัตว์น้ำ องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NOAA(3) ได้แบ่งผลกระทบของขยะในทะเลออกเป็นสองส่วนคือ ผลกระทบโดยตรงคือ เป็นสาเหตุทำให้สัตว์ทะเลตาย เช่น นกทะเลตายปีละราวหนึ่งล้านตัวเพราะเพราะกินเศษพลาสติกเข้าไป และเป็นสาเหตุการตายของสัตว์อื่นๆด้วยเช่นกัน ส่วนผลกระทบโดยอ้อมคือ พลาสติกขนาดเล็กและสารพิษชนิดต่างๆอาจมีการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารโดยผ่านการต่อกินเป็นทอดๆ เช่น จากปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็กและสุดท้ายอาจส่งผลต่อมนุษย์ซึ่งเป็นปลายทางของห่วงโซ่อาหาร ผู้บริโภคสามารถเริ่มจากตัวเองก่อนในการลดใช้พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น ตัวอย่างเช่น การใช้เวลา 5 นาทีในการใช้หลอด แต่หลอดต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย ลองปรับพฤติกรรมในการลดใช้พลาสติก แล้วเราจะรู้ว่าการไม่ต้องพึ่งพา พลาสติกไม่ได้ยากหรือทำให้ชีวิตลำบากขึ้นอย่างที่คิด โดยเริ่มต้นง่ายๆได้เช่น เริ่มจากการพกขวดน้ำ กล่องข้าว และเลิกใช้หลอด" อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว ในงานยังมีการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายที่สะท้อนเรื่องราวปัญหาจากขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากในเมือง ชายหาด และใต้ท้องทะเลของประเทศไทย รวมทั้งหมด 12 ภาพ รวมทั้งแฟชั่นโชว์ "โอเชียน โอต์ กูตูร์" (Ocean Haute Couture) โดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ของไทย ม๊าเดี่ยว คุณอภิเชษฐ์ เอติรัตนะ เวทีเสวนาเรื่อง "ศิลปะ ขยะ ทะเล" กิจกรรมเวิร์คช็อปกระเป๋าใส่เศษสตางค์จากขวดพลาสติก นิทรรศการศิลปะจากขยะพลาสติก "Heart for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก" เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 14 - 19 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 10.00น. - 21.00 น. ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ I love my ocean (สร้างรักให้ทะเล) ของกรีนพีซเพื่อสร้างสร้างความตระหนักในเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาสมุทร และสร้างจิตสำนึกให้สาธารณชนรวมถึงผู้บริโภคร่วมกันปกป้องทะเลและมหาสมุทร โดยการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ต้นทาง สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.greenpeace.or.th หมายเหตุ (1) http://science.sciencemag.org/content/347/6223/768 (2) http://nwnt.prd.go.th/CenterWeb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=TNSOC5808140010016 (3) http://www.voathai.com/a/plastics-and-the-oceans-nm/3520285.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ