ดึง 'สตาร์ตอัพ’ เข้าถึงแหล่งทุน รัฐจับมือแบงก์ ปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น

ข่าวทั่วไป Friday February 24, 2017 12:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จับมือสถาบันการเงิน สนับสนุนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ และ ดิจิทัลคอนเทนต์ หรือ สตาร์ตอัพ เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงดูแลการทำธุรกิจ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 60 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลตามนโยบาย Thailand 4.0 และเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank ธนาคารกสิกรไทย บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคาร ไทยพาณิชย์ และธนาคารออมสิน จัดทำมาตรการ หรือ สิทธิประโยชน์ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น สำหรับแนวทางส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทาง BOI ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์นี้จะได้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ เมื่อประกอบธุรกิจได้กำไรยังไม่ต้องเสียภาษีประจำปี ผู้ประกอบการยังมีเงินสดอยู่ในมือ มีสภาพคล่องที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 2. เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีทีมคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับจดแจ้งลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการถูกละเมิด ซึ่งถ้าดำเนินการผ่านสำนักงานฯ จะใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ จากระยะเวลาปกติจะใช้เวลา 1-2 เดือน และจะมีการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่เรียกว่า ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 3. การสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นความร่วมมือกับทางสถาบันการเงินพันธมิตร ในการอำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยากสำหรับการกู้เงิน โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสนใจกว่า 311 ราย คิดเป็นมูลค่าวงเงินที่ได้รับกว่า 1,077 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ยังมีโจทย์ใหญ่สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยในปีแรกอาจจะได้ผลไม่มาก และไม่สามารถสนับสนุนได้ครอบคลุมหมด แต่เมื่อผ่านไปปีที่ 2 ขึ้นไป เชื่อว่าโครงการจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถตอบโจทย์ ผู้ประกอบการที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1,000 รายได้ นอกจากนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกับสถาบันการเงินพันธมิตรครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอีกด้วย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ