นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ชูต้นแบบ “ลุงบุญมี” จาก ศพก. เชื่อมโยงการทำการเกษตรแปลงใหญ่ครบวงจรในพื้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 28, 2017 17:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางตรวจติดตามผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ณ วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวอินทรีย์ บ้านอุ่มแสง ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้พบปะประชาชนและเกษตรกรที่ร่วมดำเนินการแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมมอบเงินสนับสนุนสินเชื่อโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่บริหารจัดการแปลงใหญ่ จำนวน 5 กลุ่ม รวม 45 ล้านบาท หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะร่วมเปิดโรงสีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชนอุ่มแสง และได้ร่วมกิจกรรมจัดทำปุ๋ยอินทรีย์กองใหญ่ ณ บริเวณนาข้าวฐานการเรียนรู้ของศพก. (ข้าว) อ.ราษีไศล เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวพร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินการแปลงใหญ่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษของเกษตรกรสมาชิกในกลุ่มสินค้า 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว หอมแดง พริก ทุเรียน กระเทียม พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีแนวทางการจัดการภาคการเกษตรโดยใช้แนวนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ และใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นศูนย์ของเกษตรกรต้นแบบที่สามารถให้ความรู้ในเชิงวิชาการเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกร มีการบริหารจัดการร่วมกัน ตั้งแต่การผลิต จนถึงการตลาด สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตมีการบริหารจัดการที่ดี ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน ทั้งนี้การสนับสนุนทั้งด้านความรู้โดยการใช้งานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ เข้าไปช่วยพัฒนา เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในด้านต่าง ๆ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย สำหรับเงินทุนรัฐบาลได้สนับสนุนโครงการสินเชื่อระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ นำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาการผลิตของกลุ่มต่อไป สำหรับการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ปัจจุบันเห็นผลสำเร็จแล้วใน 600 แปลง พื้นที่ 1.538 ล้านไร่ เกษตรกร 96,554 ราย 33 ชนิดสินค้า อาทิ ข้าว กล้วยไม้ อ้อย ปลานิล ซึ่งเกษตรกรแปลงใหญ่ในสินค้าบางชนิด สามารถลดต้นทุนได้ถึง 15 % และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีก 15 % ทั้งนี้ในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ ได้วางเป้าการพัฒนาแปลงใหญ่ไว้ อีกกว่า 900 แปลง และได้มีการปรับหลักเกณฑ์และกระบวนการที่จะให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตแบบแปลงใหญ่ได้ง่ายขึ้นรวมทั้งได้จัดตั้งเครือข่ายผู้นำของเกษตรกรแปลงใหญ่มีการประสานงานเพื่อหาความร่วมมือ ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการแปลงใหญ่ไปสู่ความยั่งยืนโดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่แปลงใหญ่ข้าวเกษตรสมัยใหม่ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ นายบุญมี สุระโคตร ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว เปิดเผยในส่วนของรายละเอียดว่า กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว มีสมาชิก จำนวน 1,258 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 20,716 ไร่ (ข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 20,077 ไร่ , ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 539 ไร่ , ข้าวมะลินิล จำนวน 63 ไร่ , ข้าวมะลิแดง จำนวน 37 ไร่) มีคณะกรรมการกลาง เป็นผู้กำหนดทิศทางการผลิตและการจัดการตลาด และมีคณะกรรมการกลุ่มย่อยอีก 5 กลุ่ม นำแนวทางดังกล่าวไปวางแผนการผลิตในกลุ่มของตนเองซึ่งสมาชิกรายย่อยแต่ละกลุ่มจะมีการวางแผนร่วมกัน การผลิตตามชนิดพันธุ์และมาตรฐานการตรวจรับรองคุณภาพที่ตนเองได้รับ และคณะกรรมการกลุ่มจะรวบรวมผลผลิตของสมาชิกในการจัดจำหน่าย ให้แก่คณะกรรมการกลางกลุ่มแปลงใหญ่ ภายใต้ชื่อ "วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง" จะได้นำมาแปรรูปและจัดจำหน่ายในตราสินค้าชื่อ "ลุงบุญมี" ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ทั้ง IFAOM , EU , NOP , Fair Trade และมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 80 % มีการสั่งซื้อแบบ pre-order กับตลาดยุโรปเป็นตลาดหลัก และอีก 20 % เป็นการขายในประเทศในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ข้าวอินทรีย์แปรรูป จมูกข้าวกล้องงอกพร้อมดื่ม ขนมที่ทำจากข้าวกล้องงอก ซึ่งจากการรวมกันผลิตในลักษณะแปลงใหญ่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านรายได้ที่ทำให้เกษตรกรได้รับมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพจนได้มาตรฐานอินทรีย์รวมมูลค่า 48.7 ล้านบาทต่อฤดูกาลผลิต หรือประมาณ 38,738 บาท/ครัวเรือน ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ยังมีการใช้พื้นที่การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำกิจกรรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การเพาะปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์หลังนา เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ให้เกิดการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และมีรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ในพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวเกษตรสมัยใหม่ อ.ราษีไศล ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่สมาชิกแปลงใหญ่ ได้เข้ามาเรียนรู้แนวทางปฏิบัติจาก "ลุงบุญมี สุระโคตร"ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบที่จากเดิมผลิตข้าวที่ใช้สารเคมี และใช้ต้นทุนสูง จนเกิดสภาพแวดล้อมเป็นพิษ และได้ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ มีการเรียนรู้ จนปัจจุบันสามารถถ่ายทอดให้สมาชิกแปลงใหญ่และเกษตรกรที่สนใจเข้ามาเรียนรู้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ