ปภ.ประสานจังหวัดสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ - เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 14, 2017 12:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยประสานจังหวัดจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ จากแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรเป็นรายหมู่บ้าน พร้อมวางมาตรการแก้ไขปัญหากรณีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จัดทำบัญชีแหล่งน้ำควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ อีกทั้งกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่งมีปริมาณน้ำจำกัด จึงจำเป็นต้องจัดสรรน้ำไว้อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตร รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับพื้นที่ รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องมือเครื่องใช้ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดภัย รวมถึงจัดตั้งชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรเป็นรายหมู่บ้าน ประเมินความต้องการใช้น้ำ จำนวนครัวเรือนที่อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ และวางมาตรการแก้ไขปัญหากรณีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน สำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน โดยแยกเป็น อำเภอ ตำบล หมู่บ้านให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด รวมถึงตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ อีกทั้งกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม กำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งการป้องกันปัญหาอาชญากรรม การป้องกันโรคระบาด และดูแลสุขภาพอนามัยในช่วงฤดูร้อน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำเติมความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย รวมถึงเร่งสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนทราบ รวมถึงรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย และมีตลาดรองรับผลผลิต นอกจากนี้ ให้วางแผนการจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึง โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ด้วยการจัดรถบรรทุกน้ำและระดมรถสูบน้ำระยะไกลสูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำต่างๆ ไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและแหล่งน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา อีกทั้ง ใช้ประโยชน์จากน้ำทุกแหล่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำตามมาตรการ "1 ตำบล 1 แหล่งกักเก็บน้ำ" ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำส่งน้ำไปยังพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงประสานจัดทำฝนหลวงในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ตลอดจนวางแนวทางการแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร่วมกับหน่วยทหารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ กำหนดข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกัน โดยเฉพาะบริเวณที่มักมีการลักลอบสูบน้ำและเกิดปัญหาการแย่งน้ำ เพื่อป้องกันการสร้างสถานการณ์ ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ที่สำคัญ ให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ