ฟอร์ด จัดกิจกรรม Ford Experience World Class Engineering นำเสนอเทคโนโลยีช่วยขับขี่อัจฉริยะระดับโลก ในฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรค 3.2 ลิตร และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ไทเทเนี่ยม พลัส

ข่าวยานยนต์ Wednesday March 15, 2017 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์ ฟอร์ด ประเทศไทย จัดกิจกรรม "Ford Experience World Class Engineering" เชิญคณะสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมและยานยนต์ ร่วมทดสอบเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะ ที่มีอยู่ในรถกระบะสายพันธุ์แกร่ง ฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรค และ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ พร้อมเยี่ยมชมการผลิตรถยนต์ฟอร์ดด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย และการบริหารจัดการภายในโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ณ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ตลอดเส้นทางกรุงเทพฯ – ชลบุรี – ระยอง ผู้เข้าร่วมงานได้ทดสอบเทคโนโลยีช่วยขับขี่อันชาญฉลาดในรถกระบะสายพันธุ์แกร่ง ฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรค 3.2 ลิตร และ รถยนต์อเนกประสงค์แบบ 7 ที่นั่ง ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 2.2 ลิตร และ 3.2 ลิตร ไทเทเนี่ยม พลัส รุ่นปี 2016 ที่ได้รับการออกแบบมา เพื่อมอบสมรรถนะ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยอย่างเหนือระดับ พร้อมเพิ่มความมั่นใจสูงสุดขณะขับขี่ตลอดการเดินทาง ได้แก่ · ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ใช้เรดาร์วัดระยะห่างระหว่างรถคันหน้า โดยระบบจะตั้งค่าระบบควบคุมความเร็วแบบอัตโนมัติ เพื่อให้รถอยู่ห่างจากรถคันหน้าในระยะที่ปลอดภัยตามความเร็วที่ตั้งไว้ โดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องเหยียบคันเร่งหรือเบรกตามคันหน้า · ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System) ด้วยการทำงานร่วมกับกล้องที่ติดตั้งบริเวณหน้ารถ เพื่อตรวจจับหาเส้นแบ่งเลนบนพื้นถนนข้างหน้า โดยระบบจะสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ขับขี่กำลังเบนรถออกจากเลนโดยตั้งใจหรือไม่ และหากระบบพบว่าผู้ขับขี่กำลังเปลี่ยนเลนโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะเข้าควบคุมแรงบิดของพวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า เพื่อดึงรถกลับเข้าสู่เส้นทางเดิม หากรถยังคงเคลื่อนออกนอกเลน สัญญาณเตือนการเปลี่ยนเลนจะแจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยระบบสั่นที่พวงมาลัย · ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System) ใช้เรดาร์บริเวณหน้ารถ เพื่อวัดระยะห่างของรถกับวัตถุที่เคลื่อนที่อยู่ด้านหน้า โดยจะป้องกันการชนที่ความเร็วสูงกว่า 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากระบบวัดค่าเวลาก่อนชนได้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนพร้อมกระพริบไฟบนกระจกด้านหน้า และแสดงข้อความเตือนบนหน้าจอแสดงข้อมูล หากผู้ขับขี่ไม่ตอบสนองต่อสัญญาณเตือน ระบบจะชาร์จแรงเบรกเตรียมไว้ จึงทำให้ผู้ขับขี่สามารถหยุดรถได้อย่างรวดเร็วเมื่อแตะเบรก ช่วยลดความเสียหายจากการกระแทกหรือหลีกเลี่ยงโอกาสการชน · ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ (Driver Alert System) จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบว่าผู้ขับขี่มีอาการเหนื่อยล้า ระบบดังกล่าวทำงานโดยใช้กล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณกระจกหน้า ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ กล้องนี้มีหน้าที่ระบุและบันทึกตำแหน่งช่องทางที่รถวิ่งอยู่ เมื่อรถเคลื่อนที่ ระบบจะคาดการณ์ตำแหน่งที่รถควรจะอยู่โดยอ้างอิงจากตำแหน่งของช่องทางที่มีการบันทึกไว้ จากนั้น จึงวัดหาตำแหน่งที่แท้จริงของรถ หากพบว่ามีค่าความแตกต่างมาก ระบบจะส่งสัญญาณเตือนบนหน้าจอควบคุม · ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High Beam Control) ระบบจะทำงานที่ความเร็วสูงกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบนี้ใช้กล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าตรวจสอบสภาวะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาว่าเมื่อใดต้องเปิดหรือปิดไฟสูง ระบบจะเปิดไฟสูงเมื่อบริเวณนั้นมืดมากพอและไม่มีแสงไฟจากรถคันอื่นๆ โดยรอบ ทั้งนี้ ยังมีการทดสอบเทคโนโลยีเพิ่มเติมใน ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ไทเทเนี่ยม พลัส ได้แก่ ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) ที่ช่วยให้การนำรถเข้าจอดเทียบข้างเป็นเรื่องง่ายดายด้วยการเหยียบคันเร่ง เข้าเกียร์ และเบรก โดยไม่จำเป็นต้องบังคับพวงมาลัย รวมไปถึง ระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด (Cross Traffic Alert) ซึ่งจะคอยแจ้งเตือนผู้ขับขี่ในกรณีที่มีรถคันอื่นอยู่ในจุดบอด หรือเมื่อมีรถตัดผ่านในขณะถอยออกจากซองจอด ช่วยให้การถอยรถออกจากช่องจอดได้เป็นได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง นอกจากการทดสอบการขับและการใช้เทคโนโลยีช่วยในการขับขี่อัจฉริยะของรถฟอร์ดแล้ว ผู้เข้าร่วมงานยังได้เยี่ยมชมการผลิตรถยนต์ฟอร์ด ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมชมการบริหารจัดการภายในโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ณ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง อีกด้วย โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง หรือ เอฟทีเอ็ม เริ่มเปิดทำการเมื่อปี 2555 ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อตอกย้ำความสำคัญของประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตรถยนต์สำคัญของฟอร์ด และเป็นศูนย์กลางการส่งออกไปทั่วภูมิภาค ในปี 2559 ฟอร์ดได้เพิ่มการลงทุนจำนวน 186 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6,269 ล้านบาท ในการขยายกำลังการผลิต ฟอร์ด เรนเจอร์ โรงงานเอฟทีเอ็มมีพื้นที่ขนาด 200,000 ตารางเมตร และมีพนักงานทั้งหมดกว่า 2,000 คน เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ฟอร์ด เรนเจอร์ ฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต ฟอร์ด โฟกัส และฟอร์ด เฟียสต้า สำหรับจำหน่ายทั้งในประเทศ และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของประเทศไปยังตลาดสำคัญต่างๆ ของโลก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา บรูไน และแอฟริกาใต้ เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30 คัน ต่อชั่วโมง แบ่งเป็นรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ 16 คัน และรถยนต์นั่ง 14 คัน ทั้งนี้ กระบวนการผลิตรถยนต์ในโรงงานเอฟทีเอ็ม จะประกอบไปด้วย 4 กระบวนการหลัก ได้แก่ 1) โรงปั๊มขึ้นรูปและประกอบตัวถัง โดยใช้แท่นพิมพ์ความเร็วสูง พร้อมเทคโนโลยีระบบป้อนชิ้นงานแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ และหุ่นยนต์จำนวน 243 ตัว ในโรงงานประกอบตัวถังช่วยเชื่อมชิ้นส่วนแบบเชื่อมอัด (Spot Welding) เพื่อผนึกชิ้นส่วนและส่งต่องาน โดยระบบการประกอบตัวถังมีความยืดหยุ่น 8 ระบบ พร้อมการเก็บริมแบบ Table Top 2) โรงพ่นสี ซึ่งใช้เทคโนโลยี Rotational Dip ที่หมุนรถทั้งคันแบบ 360 องศาในถังเคมี เพื่อรองพื้นและเคลือบผิวทั่วคันรถอย่างสม่ำเสมอ และเทคโนโลยีการพ่นสีแบบ Three-Wet High Solid หรือให้รถผ่านการพ่นสีซ้อนทับกัน 3 ชั้น ก่อนเข้าเตาอบเพียงครั้งเดียว 3) โรงประกอบรถยนต์และการตรวจสอบคุณภาพ โดยเน้นสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรในด้านสรีรศาสตร์(Ergonomic Friendly Environment) เช่น ระบบพื้นมีการยกปรับระดับในสายพานการผลิต ออกแบบให้เหมาะสมกับสรีระ ช่วยให้พนักงานเคลื่อนไหวได้โดยสะดวก รวมถึงระบบติดตามปัญหาระหว่างการผลิต Quality Leadership System (QLS) ที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต 4) ขั้นตอนการขนส่งวัสดุ ซึ่งใช้รถขนส่งอัตโนมัติ (AGV – Automatic Guided Vehicle) และใช้ระบบประกอบและลำเลียง (Kitting and Sequencing) สำหรับงานที่มีความซับซ้อนสูง นอกจากนี้ ฟอร์ดยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกและรายเดียวในอาเซียน ที่ใช้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นเทคโนโลยี Rotational Dip และ เทคโนโลยีการพ่นสีแบบ Three-Wet High Solid ในการผลิตรถยนต์ โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จึงเป็นหนึ่งในโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในภูมิภาค ก่อนปิดท้ายกิจกรรมทั้งหมด ฟอร์ดยังได้จัดกิจกรรมการฝึกอบรมพิเศษ "ฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัย" (Driving Skills for Life) ซึ่งผู้เข้าร่วมการอบรมได้เรียนรู้เทคนิคการขับรถยนต์อย่างปลอดภัย ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติภายใต้สถานการณ์เสมือนจริง รวมถึง วิธีการขับขี่ที่จะช่วยประหยัดน้ำมัน และลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อสร้างเสริมพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกคน "ฟอร์ด ถือเป็นบริษัทยานยนต์และการสัญจร ที่เน้นและให้ความสำคัญกับการคิดค้น พัฒนา และนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ เพื่อสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับรถยนต์ทุกรุ่นของเรา กิจกรรม Ford Experience World Class Engineering จัดขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่ที่เหนือระดับด้วยเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะที่มีอยู่ในฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรค 3.2 ลิตร และ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ไทเทเนี่ยม พลัส รุ่นปี 2016 ทั้งนี้ เทคโนโลยีต่างๆ นั้น ได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของฟอร์ดในการนำเสนอรถที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับโลกเพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้สัมผัสในราคาที่สามารถจับต้องได้" นางสาวศุภรางศุ์ อนุชปรีดา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว "เรามั่นใจว่าเทคโนโลยีช่วยขับขี่อัจฉริยะที่นำเสนอนี้ จะทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสการขับขี่ที่เปี่ยมไปด้วยสมรรถนะ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ขับขี่คนไทยได้เป็นอย่างดี และฟอร์ดยังคงไม่หยุดยั้งกับการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก ที่จะช่วยให้การสัญจรเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ " นางสาวศุภรางศุ์ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ