ประเทศไทยในวันที่เศรษฐกิจต้องการคนอย่าง “ป๋วย อึ๊งภากรณ์”

ข่าวทั่วไป Tuesday March 21, 2017 13:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ เรื่องเล่าขานของสามัญชนนายหนึ่งยังคงได้รับการกล่าวขวัญในทุก วันที่ 9 มีนาคม หลายๆ คนคงพอคุ้นเคยกับชื่อของเขากันบ้าง ชายคนนี้ มีชื่อว่า 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์' เรื่องราวของเขายังคงได้รับส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยมักจะขึ้นต้นด้วยประโยคสุดคลาสสิกที่ว่า'สืบทอดปณิธาน ป๋วย' กระนั้น เด็กรุ่นใหม่ หรือแม้แต่ประชาชนคนทั่วไปก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกันสักเท่าไหร่ว่า ปณิธานที่ว่านี้คืออะไร ดังนั้น เราจึงควรศึกษาผลงานในทุกช่วงชีวิตของป๋วย ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ของเขาได้อย่างดีทีเดียว ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยมากมาย และดำรงไว้ซึ่งความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ และความมุ่งมั่น ในการทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการทำให้อัตราการแลกเปลี่ยนเงินบาทของไทยกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากคลุกฝุ่นอยู่มานาน การยืนกรานกับรัฐบาลที่จะปรับเงินสหธนาคาร กรุงเทพ จำกัด เนื่องจากธนาคารดังกล่าวทำผิดกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย จนทำให้เขาโดนสั่งย้ายให้ไปทำหน้าที่อื่น การจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรที่เน้นเรื่องมาตรฐานและคุณภาพมากกว่าอามิสสินจ้าง ตลอดจน การออก พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ที่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งในทุกๆ ช่วงชีวิตของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขาได้อุทิศตัวให้กับบ้านเมืองมาโดยตลอด ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ ยังคงอยู่ในสภาพเติบโตอย่างเปราะบาง แม้ว่า ความคาดการณ์เมื่อต้นปีจะบอกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจะขยายตัวขึ้น 3-4% แต่กลับสวนทางกับ งบประมาณคงคลังของรัฐบาลที่ขาดดุลกว่าปีก่อนหน้า ประกอบกับ นโยบายการจัดเก็บเพดานภาษีที่เข้มงวดขึ้นสำหรับประชาชน จนดูเหมือนว่า รายจ่ายของรัฐบาลนั้นสะดุดถึงขั้นต้องผลักภาระมาให้ประชาชนเสียเอง กระนั้น ความจริงข้อหนึ่งคือ เราไม่มีทางรู้ว่า เศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่สภาวการณ์ ณ ตอนนี้กลับชวนให้นึกถึง บุคคลในหน้าประวัติศาสตร์อย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพราะเขาเป็น ผู้พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย โดยเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งเขาผู้นี้คือใครนั้น วันนี้เราจะมารู้กันเขากันมากขึ้น กับ บุคคลในหน้าประวัติศาสตร์อย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์' 1. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และการเมือง 2. เขาเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่าทุกคน โดยเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2502 3. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ป๋วย ในนามของสมาชิกขบวนเสรีไทยในอังกฤษ ได้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพของอังกฤษ เพื่อแสดงสัญญะว่า ไทยไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของญี่ปุ่น โดยเขาเสี่ยงชีวิตลอบเข้าไทยเพื่อประสานงานกับกลุ่มเสรีไทยในประเทศ และส่งผลในภายหลังให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะ ประเทศผู้แพ้สงครามเพราะร่วมมือกับญี่ปุ่น 4. ในระหว่างปี พ.ศ. 2502 - 2515 เขาได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากรัฐบาลทั้งด้านความสามารถและความซื่อสัตย์ ทำหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการเงิน การคลัง ของทั้งประเทศ โดยที่ ในบางปีเขาต้องเป็นทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ พร้อมๆ กัน (แต่ไม่รับเงินเดือนเต็มจากทุกหน่วยงาน) 5. ในปี พ.ศ. 2508 เขาได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ (เปรียบดังรางวัลโนเบลของทวีปเอเชีย) ในฐานะที่เป็นข้าราชการที่อุทิศตนให้แก่ราชการอย่างสูงยิ่ง 6. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นเจ้าของบทความอมตะ อันเลื่องชื่ออย่าง "คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่ง ความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ที่ว่าด้วย สวัสดิการสังคมของคนไทยพึงได้รับจากรัฐ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวันสิ้นชีวิตบทความดังกล่าวนั้นเป็นที่มาของแนวคิด "รัฐสวัสดิการ"โดยให้ รัฐบริหารจัดการเงินภาษีอากรที่เก็บจาก ประชาชน กิจการ และ ธุรกรรม มาดูแลประชาชนในสังคมเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต 7. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรกของไทย โดยวางนโยบาย รัฐสวัสดิการ ในร่างดังกล่าว 8. เขายังเป็นเจ้าของความคิดเรื่อง "สันติประชาธรรม" ที่เรียกร้อง (1) สิทธิเสรีภาพของประชาชน (2) ความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม (3) การมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของสังคม และ (4) การขับเคลื่อนหรือต่อสู้เพื่อเป้าหมายต้องใช้แนวทางสันติวิธี 9. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2507-2515) ที่สร้างมาตรฐานการศึกษาสาขานี้ให้แก่มหาวิทยาลัยและทั้งประเทศ โดยเขาริเริ่มส่งคนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกในต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะ ต่อมาเขาได้เป็นศิษย์เก่าคนแรกที่ได้เป็นอธิการบดี ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2518 10. เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆที่เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมองข้ามการพัฒนาในระดับฐานราก ดังนั้น จึงได้ก่อตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร เพื่อให้ปัญญาชนลงไปสัมผัสปัญหาชนบท รวมทั้งร่วมก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย แท้ที่สุดแล้วสืบทอดปณิธานที่ว่านี้ คงหมายรวมถึง การเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์เพื่อประชาชน จึงไม่แปลกที่ องค์การยูเนสโกจะยกย่องให้ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในด้านผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ แม้ว่าปีนี้จะครบรอบ 101 ปี ชาตกาลของบุคคลสำคัญของโลกอย่าง 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์' แต่อย่างน้อย เรื่องราวของเขาก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม ราวกับว่าเขาไม่ได้หายไปไหน "ถึงแม้ความหวังนั้นจะไม่สำเร็จในช่วงชีวิตของเรา แต่เราก็ต้องทิ้งความคิดไว้ให้คนรุ่นหลังทำต่อ" สัจจะ ธรรมรักษา (นามปากกาแฝงของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ