3 ข้อ "ต้องรู้" ลดการสูญเสียหากเกิดอุบัติเหตุ

ข่าวทั่วไป Friday March 24, 2017 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น ขึ้นชื่อว่า "อุบัติเหตุ" ย่อมไม่มีใครรู้ล่วงหน้า เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกเพศ ทุกวัย ไม่เว้นแม้ที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดเช่น บ้าน จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากเป็นอันดับ2 รองจากการเสียชีวิตด้วยโรคร้ายสำคัญ ในขณะเดียวกันการลื่นล้มของผู้สูงอายุ นำไปสู่ พิการ-เสียชีวิต ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่รองจากอุบัติเหตุท้องถนน ดังนั้น เราก็ควรมีสติและความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อรักษาชีวิตและลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด วันนี้ เรารวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์ จาก นพ.ชัยโรจน์ เอื้อไพโรจน์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยศาสตร์ทางมือและจุลศัลยกรรม สถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อการรับมือเมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างถูกวิธี 1.อุบัติเหตุที่มีเลือดออกมาก ห้ามเลือดด้วยการใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซจำนวนมาก ปิดบาดแผลและกดให้แน่น 2. หากมีอวัยวะฉีกขาด ต้องทำอย่างไร ? - กรณีที่อวัยวะขาดออกจากตัว ให้รีบนำอวัยวะนั้นใส่ถูกพลาสติกสะอาด รัดปากถุงให้แน่นแล้วใส่ในน้ำที่มีน้ำแข็งอยู่ด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 4 องศาเซลเซียส ห้ามนำอวัยวะที่ถูกตัดขาดไปสัมผัสน้ำแข็งโดยตรง เพราะจะทำให้เซลล์ตาย กรณีอวัยวะขนาดใหญ่ขาด เช่น มือ แขน หรือขา เนื้อเยื่อจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 6 ชั่วโมง ส่วนนิ้วขาด เนื้อเยื่อจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 12 ชั่วโมง - กรณีที่ยังมีเนื้อเยื่อติดอยู่กับตัวผู้ป่วย ให้ห้ามเลือดและประคองส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้มั่นคงที่สุด ไม่ให้ถูกดึงรั้งไปมา จากนั้นรีบติดต่อโรงพยาบาลที่มีศูนย์อุบัติเหตุและต่ออวัยวะแบบครบวงจร เพื่อลดเวลาที่อาจจะเสียไปจากการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล 3. กรณีผู้สูงอายุล้มในบ้าน ควรปฐมพยาบาลอย่างไร ? ควรประเมินผู้สูงอายุหลังจากหกล้มว่ารู้สึกตัวขณะล้มหรือไม่ และสามารถลุกขึ้นเดินได้หรือไม่ หากผู้สูงอายุล้มขณะรู้ตัว สามารถลุกขึ้นเดินได้ปกติ อาการปวดทุเลาในเวลาไม่นาน และมีบาดแผลฟกช้ำ ควรรีบปฐมพยาบาล ถ้าเป็นบาดแผลฟกช้ำ บวมแดง ให้ล้างบริเวณบาดแผลด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นให้ใช้น้ำแข็งประคบในวันแรก ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดจะหยุดไหล อาการบวมจะลดลง หลังจาก 24 ชั่วโมงผ่านไปแล้ว ให้ใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณบาดแผล ความร้อนช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว อาการช้ำจะลดน้อยลง ถ้าเป็นบาดแผลถลอก ให้ล้างน้ำด้วยน้ำสะอาด และทายาใส่แผลสด ถ้ามีอาการรุนแรงมากควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หากผู้สูงอายุล้มและไม่รู้สึกตัว มีอาการเวียนศีรษะขณะล้ม มีบาดแผล เดินไม่เป็นปกติ ควรรีบนำผู้สูงอายุส่งโรงพยาบาลทันที ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ "Taylor Spatial Frame" ทำให้ศัลยแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บของกระดูกที่มีส่วนกระดูกหายไป หรือผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหักร่วมกับมีภาวะเนื้อเยื่อรอบกระดูกบาดเจ็บรุนแรงที่ไม่สามารถใส่อุปกรณ์ภายในได้ หรือกลุ่มที่กระดูกหักมาแล้วระยะหนึ่ง และมีปัญหาแทรกซ้อน เพื่อปรับแนวกระดูก แก้ไขในส่วนที่กระดูกไม่ติด และให้ขามีความยาวใกล้เคียงปกติ ผู้ป่วยที่บาดเจ็บมีกระดูกหายไปมักจะมีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ เส้นประสาทร่วมด้วยได้ การรักษาด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวร่วมกับการรักษาโดยทีมแพทย์จุลศัลยศาสตร์ในการย้ายเนื้อจากบริเวณอื่นมาปิดกระดูก เพื่อรักษากระดูกและเนื้อที่หายไปพร้อม ๆ กัน และรักษาการทำงานของขาที่ยังเก็บไว้ ได้ดีกว่าขาเทียม นพ.นรชาติ ศิริศรีตรีรักษ์ แพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้าน Orthopedic Trauma สถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 อธิบายถึงอุปกรณ์นี้ว่า "เป็นเทคโนโลยีที่นำระบบ Navigation มาใช้ในการวางแผนการรักษาเพื่อแก้ไขกระดูกที่ผิดรูปที่มีความแม่นยำมากขึ้นให้เหมาะสมกับผู้ป่วยด้วย" ขณะเดียวกันนวัตกรรม "การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อด้วยเทคนิค BIKINI SURGERY" ช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ศ.นพ.ธไนนิธย์ โชตนภูติ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ สถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า "การผ่าตัดด้วยเทคนิค BIKINI SURGERY กล้ามเนื้อผู้ป่วยบอบช้ำน้อยลง ไม่บาดเจ็บ แผลสวย ฟื้นตัวเร็วขึ้น การผ่าตัดใช้วัสดุที่พัฒนาให้ดีขึ้น เทคนิคการผ่าตัดก็ดีขึ้น สามารถกลับมาเดินได้ในวันที่ 2 หลังผ่าตัด พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 2-3 วันก็กลับบ้านได้แล้ว สาเหตุของอาการข้อสะโพกเสื่อมเกิดจากหัวกระดูกขาดเลือดแล้วทำให้เบ้ายุบลงไป เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากการซื้อยากินเองจนทำให้ได้รับยาที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์รักษาเป็นประจำ ล้วนเร่งให้ข้อสะโพกเสื่อมเร็วขึ้น" อีกไม่นานเทศกาลสงกรานต์ก็จะมาถึง หลาย ๆ หน่วยงานร่วมมือกันรณรงค์ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ฉะนั้นสิ่งที่เราทุกคนพึงสำนึกก็คืออุบัติเหตุนั้นป้องกันได้ โดยเริ่มที่ตัวเรา ก่อนเดินทางผู้ขับขี่ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เช็ครถยนต์และเส้นทางให้ดี เคารพกฎจราจร ง่วงไม่ขับ และที่สำคัญเมาไม่ขับ เทศกาลสงกรานต์ก็จะเป็นเทศกาลแห่งความสุขของทุกคนในครอบครัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ