กระทรวงเกษตรฯ เร่งเคลียร์พื้นที่ระบาดหนอนหัวดำ ปูพรม 2 จังหวัด ประจวบคิรีขันธ์และสุราษฎร์ธานี ตะลุยสร้างการรับรู้สู่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนชูหัวใจความสำเร็จของโครงการอยู่ที่ความร่วมมือ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 29, 2017 21:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแลสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากมติ ครม.ที่อนุมัติให้กระทรวงเกษตรสหกรณ์ดำเนินโครงการและงบประมาณเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสาน แบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 78,954 ไร่ วงเงิน 287.73 ล้านบาท เพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ คือ ปาล์มน้ำมัน และลดความรุนแรงการระบาดของหนอนหัวดำไปยังพื้นที่แห่งใหม่ โดยมีพื้นที่ดำเนินการ รวม 78,954 ไร่ ใน 29 จังหวัด ตั้งแต่เดือนเมษายน – ธันวาคม 2560 ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการตามแผนแนวทางการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามมาตรการที่กำหนดไว้ พร้อมกับต้องเร่งเข้าไปดำเนินการสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้วย นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ ประมาณ 1.24 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำ 78,954 ไร่ ใน 29 จังหวัด และระบาดรุนแรงใน 5 จังหวัด ได้แก่ 1) ประจวบคิรีขันธ์ 62,000ไร่ พบการระบาดของหนอนหัวดำทุกอำเภอ 2) สุราษฎ์ธานี 5,000 ไร่ 3) ชลบุรี 4,000 ไร่ 4) สมุทรสาคร 2,600 ไร่ และ 5) แปดริ้ว 953 ไร่ โดยมาตรการที่ได้เสนอต่อ ครม. ในประเด็นความยั่งยืนนั้น จะดำเนินการครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั้ง 78,954 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. การสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับเกษตรกร 2. การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน 3. มาตรการทางกฎหมาย 4. การเฝ้าระวังและการสำรวจ และ 5. สร้างสวนใหม่ทดแทนและส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุลในระยะต่อไป "การดำเนินการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำจะประสบความสำเร็จและได้ผลอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวนมะพร้าวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของหนอนหัวดำต้องให้ความร่วมมือ และยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการ เพื่อไม่ให้หนอนหัวดำมีการระบาดไปนอกพื้นที่" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นช่วงเดือนเมษายนนี้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรจะร่วมกันดำเนินการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำในพื้นที่พบการระบาดรุนแรงมากใน 2 จังหวัด คือ ประจวบคิรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี เนื่องจากที่ผ่านมาพบ 2 ปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการกับหนอนหัวดำในสวนมะพร้าวในบางพื้นที่ได้ โดยปัญหาแรกมาจากการที่เกษตรกรเจ้าของสวนบางรายไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ใช้สารเคมีตามหลักวิชาการเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ และอีกปัญหาหนึ่ง คือ เจ้าของสวนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปล่อยให้สวนทิ้งร้างกลายเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ของหนอนหัวดำ ทั้งนี้กรณีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่พบว่ามีการระบาดอยู่ในระดับรุนแรง หากใช้วิธีการตัดทางใบและพ่นเชื้อบีทีจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกำจัดหนอนหัวดำได้ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีพ่นสารทางใบสำหรับต้นมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร ส่วนมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตรให้ใช้วิธีฉีดสารเข้าต้น ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถตัดวงจรชีวิตหนอนหัวดำได้ผลดีที่สุด ซึ่งสารเคมีทีใช้ในการดำเนินการดังกล่าวเป็นสารเคมีที่อยู่ในคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นเกษตรกรและผู้บริโภคไม่ต้องกังวงในเรื่องของสารตกค้างเพราะมีผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรรองรับว่าไม่พบสารตกค้างทั้งในน้ำและเนื้อมะพร้าว รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปดำเนินการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำในพื้นที่ดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรมีแผนที่จะสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของรัฐบาลก่อน โดยแผนการสร้างการรับรู้ดังกล่าวจะทำทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการปฏิบัติตามแผนสร้างการรับรู้ดังกล่าวประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันช่วงที่การดำเนินการตามแผนสร้างการรับรู้ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทางด้านวิชาการของกรมวิชาการเกษตรจะจัดทำคู่มือกำหนดวิธีการปฏิบัติในการกำจัดหนอนหัวดำในสวนมะพร้าวเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรและท้องถิ่นเพื่อชี้เป้าแหล่งระบาดที่ต้องเข้าไปดำเนินการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ