ปภ. บูรณาการจังหวัดเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ จัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอและทั่วถึง

ข่าวทั่วไป Thursday March 30, 2017 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในมิติเชิงพื้นที่ ภายใต้กลไก "ประชารัฐ" อย่างครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำ และประเมินการใช้น้ำในพื้นที่ ควบคู่กับการสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ พร้อมปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำ ตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ รวมถึงกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชน และกำหนดข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกัน อีกทั้งดัดแปลงสภาพแหล่งน้ำตามธรรมชาติเป็นแหล่งกักเก็บน้ำในลักษณะของเหมือง ฝายชะลอน้ำ หลุมขนมครก หรือแก้มลิง ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้วางเพาะปลูกพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่าเขื่อนหลักทั่วประเทศมีปริมาณน้ำมากกว่าปี พ.ศ.2559 ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่งมีปริมาณน้ำจำกัด ประกอบกับช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2560 จะมีฝนตกสลับกับฝนทิ้งช่วง จึงจำเป็นต้องจัดสรรน้ำไว้อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ทำให้หลายพื้นที่ มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตร รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในมิติเชิงพื้นที่ ภายใต้กลไก "ประชารัฐ" อย่างครอบคลุมทุกด้าน พร้อมแบ่งมอบภารกิจและกำหนดผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนโดยแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัด เป็นหัวหน้าคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้ใช้น้ำ มุ่งวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์น้ำ ปริมาณการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรม และความต้องการใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ ควบคู่กับการวางแนวทางแก้ไขปัญหากรณีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน รวมถึงจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำ และประเมินการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร อีกทั้งถอดบทเรียนปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือปัญหาการใช้น้ำในอดีตมาปรับปรุงแก้ไขอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ มุ่งเน้นการสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ การสร้างและปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำ การตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ การกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชน และการกำหนดข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกัน เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งน้ำ ตลอดจนสานพลังประชารัฐในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการดัดแปลงสภาพแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ด้วยการใช้ลำเหมือง ทางน้ำไหลในช่วงฤดูฝน และที่ราบลุ่มเป็นแหล่งกักเก็บน้ำในลักษณะของเหมือง ฝายชะลอน้ำ หลุมขนมครก หรือแก้มลิง ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อาทิ การก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ การบำรุงรักษาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของภาครัฐ พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกครัวเรือนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ