เปิดมิติรัฐธรรมนูญในมุมเยาวชน ผู้ตามรอย “สัญญา ธรรมศักดิ์” เพื่อที่จะเป็นผู้ร่างกฎหมายของชาติในอนาคต

ข่าวทั่วไป Thursday April 20, 2017 12:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ วันที่ 5 เมษายนของทุกๆ ปีเป็นวันคล้ายวันเกิดของ "ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์" ปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ของประเทศไทยผู้ซึ่งมีคุณูปการยิ่งแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสังคมไทย ด้วยการทุ่มเทอุทิศตัวให้กับการทำงานในด้านกฎหมายผ่านการดำรงตำแหน่งที่สำคัญอย่างหลากหลายอาทิคณบดีคณะนิติศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประธานศาลฎีกาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประธานองคมนตรี รวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ช่วยนำพาชาติไทยให้ก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปได้ ด้วยเหตุนี้ในแต่ละปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้จัดงานเพื่อเชิดชูเกียรติของศาสตราจารย์สัญญาธรรมศักดิ์ และกองทุนศาสตราจารย์สัญญาธรรมศักดิ์จะคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่นเพื่อรับ"รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์" เป็นประจำอยู่เสมอโดยรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นรางวัลที่ทางกองทุนศาสตราจารย์สัญญาฯ จัดให้มีการคัดเลือกนักศึกษากฎหมายที่ดีเด่นในแต่ละรอบปี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งผลการคัดเลือกในปีนี้ ได้แก่ นางสาวอติภา จันทร์วีระเสถียร นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ1(รางวัลพระราชทานเรียนดีทุนภูมิพล) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวอติภา เล่าถึงกระบวนการคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่นว่า ในปี พ.ศ.2560 นี้ มีนักศึกษาที่เข้ารับการคัดเลือกจำนวน 7 คนจาก 4 สถาบัน ส่วนการคัดเลือกทำโดยวิธีการสัมภาษณ์กับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายจำนวนมาก เธอได้ตอบคำถามเป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งตลอดเวลาในห้องสัมภาษณ์นั้น ก็พยายามควบคุมสมาธิและตอบคำถามให้ดีที่สุด บางคำถามเป็นคำถามที่ค่อนข้างยากแต่เธอก็พยายามตอบตามความรู้ที่เรียนมาและพยายามตอบให้ชัดเจนตรงประเด็น สำหรับการเตรียมตัว นางสาวอติภาได้หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนายกรัฐมนตรี ตลอดจนแนวคิดคำสอนของท่านในด้านการใช้ชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้ว เธอก็ได้ยึดคำสอนของท่านเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่ด้วย เช่น การใช้ชีวิตแบบมีความมุ่งหมาย หรือ การลงมือปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยที่ศาสตราจารย์สัญญาฯ ได้เข้ามาบริหารจัดการความขัดแย้ง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างอยู่ในรายละเอียด เนื่องจากมีความขัดแย้งที่คล้ายกัน แต่ก็มาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งที่เป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนในขณะนี้ นั้นคือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2560 นางสาวอติภา แสดงมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า ตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยนั้นมีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับด้วยกัน ตามที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้ต้องมีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของไทยอยู่บ่อยครั้ง เช่น สถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปหรือการทุจริต ฉ้อฉล ไม่เคารพยำเกรงกฎหมาย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนและส่วนงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรากฎหมายมากขึ้น ซึ่งได้วางหลักในมาตรา 77 วรรค 2 ว่าก่อนตรากฎหมายให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบอันอาจเกิดจากกฎหมาย อีกทั้งนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการตรากฎหมายทุกขั้นตอน และภายหลังกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วก็จะต้องมีการรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาปรับบทกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพสังคมหรือบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กฎหมายสามารถนำมาใช้ได้อย่างบรรลุวัตถุประสงค์ในการก่อความยุติธรรมในสังคมได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีจุดเด่นอันเป็นข้อดีได้แก่ ความมุ่งหมายอันดีที่จะแก้ไขปัญหาและปราบปรามการทุจริตจากสังคมไทยโดยมีบทกฎหมายหลายมาตราที่ได้มีกำหนดหลักการที่ชัดเจนตลอดจนวางหลักการเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว อาทิ มาตรา 98 ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่าต้องไม่เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งหรือต้องคำพิพากษาจำคุกด้วยเหตุทุจริต มาตรา 76 ที่วางหลักให้รัฐบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและจำต้องจัดให้มีประมวลจริยธรรมเพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือในมาตรา 235 ได้วางหลักเกี่ยวกับโทษของการอันทุจริตต่อหน้าที่หรือการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงซึ่งคือ การให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่และการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดบัญญัติข้อกฎหมาย เงื่อนไข กฎเกณฑ์ไว้ดีเพียงไร หรือจะมีบทลงโทษของการฝ่าฝืนกฎหมายไว้สูงเพียงไร เธอก็เชื่อว่าตัวบทกฎหมายก็เป็นเสมือนเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมกลไกการบริหารประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมเท่านั้น ตัวบทกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะก่อความยุติธรรมหรือกำจัดความทุจริตให้สิ้นไปจากสังคมได้ หากแต่ต้องอาศัยบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติราชการหรือกิจการของรัฐ เช่น นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ในการดำรงตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากอคติและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ อีกทั้งต้องอาศัยการสอดส่องและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐโดยหน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์การอิสระ รวมถึงประชาชนอีกด้วย สำหรับประวัติของนางสาวอติภา จันทร์วีระเสถียรนั้นสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลังจากนั้นจึงได้เข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยในระหว่างการศึกษาเธอได้รับรางวัลและประกาศนียบัตรนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 4 มาโดยเสมอ นอกจากนี้เธอยังมีความสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง โดยได้ทำโครงงานในวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย ในภาคการเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 เรื่องต้นแบบการพัฒนาสิทธิของบุคคลไร้สัญชาติ กรณีศึกษานายวิษณุ บุญชา ผู้เป็นบุตรของบุพการีที่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337และได้รับสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นโครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากคณะนิติศาสตร์ อย่างไรก็ดีหลังจากจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์แล้วนั้นนางสาวอติภาได้เข้ารับการอบรมจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 45 (พ.ศ.2560) โดยเป็นผู้ทำคะแนนสูงสุดในการทดสอบความรู้อบรมวิชาว่าความดังกล่าวอีกด้วยส่วนชีวิตหลังจากนี้เธอตั้งใจจะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นโดยมีความสนใจในกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายเยาวชนและครอบครัวและจะนำวิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยมีความใฝ่ฝันอยากประกอบอาชีพผู้พิพากษาและอยากเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในอนาคต แม้ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์จะล่วงลับไปแล้วนั้น แต่ในฐานะที่เป็นบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ถือได้ว่าเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของศาสตราจารย์สัญญาฯ ด้วยเช่นกัน นางสาวอติภากล่าวแสดงความคิดที่มีต่อศาสตราจารย์สัญญาฯ ทิ้งท้ายว่า "อาจารย์สัญญาเคยกล่าวไว้ว่า หากมุ่งที่จะประสบความสำเร็จ คนเราทุกคนต้องมีความมุ่งหมายที่แจ่มใสชัดเจนและต้องมีเหตุผลที่เป็นไปได้ การจะบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น ไม่ใช่รอเพียงแต่บุญวาสนา บุญวาสนานั้นมีจริงแต่ต้องไม่มาทำให้เรางอมืองอเท้า เราจะต้องลงมือทำโดยมีหลักในชีวิต หรือ Way of Life ซึ่งท่านอาจารย์สัญญาได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพราะพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นสิ่งลึกลับซับซ้อน ไม่ใช่เป็นสิ่งเฉพาะแก่นักปราชญ์เท่านั้น แต่เป็นความจริงที่เหมาะสำหรับคนทุกชั้นทุกวัยให้ยึดถือปฏิบัติและตนเองก็ได้นำหลักคำสอนของอาจารย์สัญญามาปฏิบัติใช้ในชีวิตของตนเองด้วยเช่นกัน"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ