“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เดินหน้า “โครงการโฟร์โมสต์สานพลังประชารัฐ พัฒนาเกษตรกรโคนมไทย” มุ่งยกระดับการจัดการฟาร์มโคนม แบบเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้เกษตรกรโคนมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมสืบสานอาชีพเกษตรกรโคนมให้ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday April 26, 2017 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--เวิรฟ สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จ.สระบุรี - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การสนับสนุนโดย บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เดินหน้าขับเคลื่อน "โครงการโฟร์โมสต์สานพลังประชารัฐ พัฒนาเกษตรกรโคนมไทย" ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ราชบุรี และจันทบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาฟาร์มโคนมแบบครบวงจรและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรโคนมไทย ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันโครงการประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง 3 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน โดยนำเอาจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในภาคการเกษตรไทย และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรโคนมให้ยั่งยืน ผ่านการบริหารจัดการฟาร์มและพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบที่มีประสิทธิภาพ โดยการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเกษตรกรโคนมชาวเนเธอร์แลนด์สู่เกษตรกรโคนมไทย ด้วย 7 แนวทางสู่การผลิตน้ำนมโคคุณภาพ (7 Diamonds) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรโคนมไทยสามารถผลิตน้ำนมโคที่มีคุณภาพดีขึ้น และได้ปริมาณที่สูงขึ้น ตั้งเป้าสิ้นปี 2560 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมโคเฉลี่ยจาก 13 เป็น 18 กก./ตัว/วัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรโคนมที่เข้าร่วมโครงการฯ กว่า 1,600 รายบนพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ทั่วประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 45 ล้านบาท/ปี นายทศพร ศรีศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันโครงการประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง 3 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน โดยนำเอาจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในภาคการเกษตรไทย โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะตัวแทนภาครัฐ ของกลุ่ม D6 การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ มีหน้าที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรโคนมทุกกลุ่ม โดยเน้นพื้นฐานการควบคุมดูแลให้ตรงตามมาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบ คือ การติดตามผลการดำเนินงาน การตรวจเยี่ยม และเพิ่มความเข้มงวดในประสิทธิภาพของระบบการควบคุมมาตรฐานแก่เกษตรกร และเสริมการให้ความรู้และเพิ่มมาตรฐานการจัดการด้านสุขภาพสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบมาตรฐานฟาร์ม รวมถึงการจัดหาเจ้าหน้าที่มาควบคุมดูแลเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มเกษตรกรโคนม ได้มีอาชีพที่ยั่งยืน นายเชวงศักดิ์ สงวนวงศ์วิจิตร ประธานสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรโคนมไทย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนเกษตรกร ผมเชื่อมั่นว่าโครงการฯ ดังกล่าว จะช่วยพัฒนาคุณภาพของน้ำนมดิบ การบริหารจัดการฟาร์มโคนมแบบสมัยใหม่ และความเป็นอยู่ของเกษตรกรโคนมให้ดีขึ้น โดยสหกรณ์โคนมยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรโคนมหันมาเรียนรู้และปรับปรุง "คุณภาพน้ำนม" ด้วยระบบการรีดนมแบบอัตโนมัติและระบบการทำความเย็นจากแท้งค์ (Milking Machine Pipe line and Cooling tanks) พร้อมส่งน้ำนมโดยระบบรถขนส่งถึงศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เพื่อรักษาคุณค่าของน้ำนมมากที่สุด ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบของอาชีพเกษตรกรรมโคนมสมัยใหม่ ที่ช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการรีดนมลดปริมาณจุลินทรีย์และปริมาณโซมาติกเซลล์ เกษตรกรได้น้ำนมในปริมาณมากขึ้น มีรายได้มากขึ้นจากจำนวนโคนมเท่าเดิมที่ตนเองมีกำลังในการจัดการดูแลได้ และยังเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ร่วมกันพัฒนาและคงไว้ซึ่งอาชีพเกษตรกรโคนมพระราชทานสืบไป ดร.โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ผู้รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรโคนมไทย ฟรีสแลนด์คัมพิน่าได้ร่วมเดินหน้าสนับสนุน นโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรในการทำฟาร์มโคนมแบบยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรโคนมไทย โดยตั้งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาครอบคลุมทั้ง 5 ด้านอันได้แก่ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ สร้างระบบบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดหาตลาดรับซื้อให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นไปตามดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่รัฐบาลต้องการให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมนมไทย ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง สำหรับบทบาทของ ฟรีสแลนด์คัมพิน่าในโครงการดังกล่าว คือการยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มและพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนม "เรามุ่งหวังว่าจากโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตน้ำนมโคที่มีคุณภาพดีขึ้น ได้น้ำนมในปริมาณมากขึ้นและขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยตั้งเป้าสิ้นปี 2560 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมโคให้สูงขึ้นกว่า 20% หรือเฉลี่ยจาก13 เป็น 18 กก./ตัว/วัน และเพิ่มคุณภาพน้ำนมโคโดยลดจำนวนแบคทีเรียต่อน้ำนม 1 มิลลิลิตรให้ต่ำกว่า 5 แสนเซลล์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโคนมที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 5 แปลงนำร่อง ในเขตอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี , อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี กว่า 1,600 รายบนพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 45 ล้านบาท/ปี" ดร.โอฬาร กล่าว นางเวนดี้ ครัมป์ ตัวแทนเกษตรกรโคนมชาวเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้แก่เกษตรโคนมชาวไทย ในโครงการฯ ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีแนวคิดใหม่ๆ และใช้ความทันสมัยในการพัฒนาฟาร์มโคนมของตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้ แนวทาง7Diamonds ไม่ว่าจะเป็นอาหารและน้ำ (อาหารคุณภาพดีพร้อมอาหารเสริมและน้ำสะอาด), การเลี้ยงลูกโค (เพื่อให้เป็นแม่โคนมที่ดีในอนาคต), การรีดนม (ความสะอาดและการฆ่าเชื้อ), ความสมบูรณ์พันธุ์ (เพื่อการขยายฝูง), การดูแลกีบ (ซึ่งมีผลต่ออารมณ์และการให้นมคุณภาพของโค), การออกแบบโรงเรือน (จัดสัดส่วนพื้นที่ให้เหมาะสม) และการบันทึกข้อมูล (บันทึกข้อมูลสม่ำเสมอเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับปรุงในอนาคต) โดยทั้ง 7 แนวทางสู่การผลิตน้ำนมโคคุณภาพเยี่ยมนี้ เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามรูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มของตนเอง และสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ได้อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ