“พุทธศาสนิกชนกับการทำบุญในวันวิสาขบูชาและความศรัทธาในพุทธศาสนา”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 9, 2017 09:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--นิด้าโพล เนื่องในวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2560 ตรงกับวันวิสาขบูชา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "พุทธศาสนิกชนกับการทำบุญในวันวิสาขบูชาและความศรัทธาในพุทธศาสนา" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 5 พฤษภาคม 2560 กรณีศึกษาจากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำบุญในวันวิสาขบูชาและความศรัทธาในพุทธศาสนา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ตั้งใจจะทำเนื่องในวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.00 ระบุว่า จะตักบาตรอาหารสด รองลงมา ร้อยละ 44.64 ระบุว่า เวียนเทียน ร้อยละ 33.68 ระบุว่า ตักบาตรอาหารแห้ง ร้อยละ 32.40 ระบุว่า ไหว้พระ ร้อยละ 16.40 ระบุว่า ถวายสังฆทาน ร้อยละ 9.28 ระบุว่า ฟังเทศน์/ฟังธรรม ร้อยละ 7.20 ระบุว่า ถือศีล ร้อยละ 6.32 ระบุว่า ทำสมาธิ/เดินจงกรม ร้อยละ 3.84 ระบุว่า งดทานเนื้อสัตว์ ร้อยละ 0.56 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ทอดผ้าป่า แจกของบริจาคให้ผู้สูงอายุ ทำบุญให้กับโรงพยาบาล บำเพ็ญประโยชน์และช่วยเหลือสังคม และร้อยละ 1.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับบุคคลที่ประชาชนจะร่วมทำกิจกรรมด้วยในวันวิสาขบูชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.64 ระบุว่า จะไปกับบุตรหลาน รองลงมา ร้อยละ 37.44 ระบุว่า จะไปกับแฟน/คู่สมรส ร้อยละ 26.56 ระบุว่า จะไปกับพ่อ/แม่ ร้อยละ 15.52 ระบุว่า จะไปกับพี่/น้อง ร้อยละ 12.48 ระบุว่า จะไปคนเดียว ร้อยละ 11.92 ระบุว่า จะไปกับญาติ ร้อยละ 11.76 ระบุว่า จะไปกับเพื่อน ร้อยละ 4.00 ระบุว่า จะไปกับปู่/ย่า/ตา/ยาย ร้อยละ 0.96 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เพื่อนบ้าน คนในชุมชน และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเลื่อมใสและศรัทธาในหลักคำสอน/แก่นแท้ของพุทธศาสนาจากกรณีที่พระสงฆ์มีข่าวฉาว หรือข่าวในภาพลบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.88 ระบุว่า ยังมีความเลื่อมใสและศรัทธาในหลักคำสอน/แก่นแท้ของพุทธศาสนาเหมือนเดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง รองลงมา ร้อยละ 11.04 ระบุว่า มีความเลื่อมใสและศรัทธาในหลักคำสอน/แก่นแท้ของพุทธศาสนาลดลง ร้อยละ 2.96 ระบุว่า มีความเลื่อมใสและศรัทธาในหลักคำสอน/แก่นแท้ของพุทธศาสนามากขึ้น ร้อยละ 0.88 ระบุว่า อยู่ที่ตัวบุคคล ดูเป็นรายกรณีไป และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเลื่อมใสและศรัทธาในตัวพระสงฆ์ จากกรณีที่พระสงฆ์มีข่าวฉาว หรือข่าวในภาพลบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.68 ยังมีความเลื่อมใสและศรัทธาในตัวพระสงฆ์เหมือนเดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง รองลงมา ร้อยละ 24.88 มีความเลื่อมใสและศรัทธาในตัวพระสงฆ์ลดลง ร้อยละ 15.12 อยู่ที่ตัวบุคคล ดูเป็นรายกรณีไป ร้อยละ 1.60 มีความเลื่อมใสและศรัทธาในตัวพระสงฆ์มากขึ้น และร้อยละ 2.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญทางศาสนา ที่ต้องการให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาตรวจสอบแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 20.40 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมของพระสงฆ์ที่เรี่ยไรเงินบริจาคทำบุญในที่สาธารณะ รองลงมา ร้อยละ 16.16 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมของพระสงฆ์หรือประชาชนที่หลอกลวงให้บริจาคเงินทำบุญ ร้อยละ 14.56 ระบุว่า เป็นการปลอมตัวเป็นพระสงฆ์ ร้อยละ 13.60 ระบุว่า วัดที่เน้นการทำบุญแบบพุทธพาณิชย์มากจนเกินไป ร้อยละ 9.28 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมการแต่งกาย ที่ไม่เหมาะสมในการเข้าวัดทำบุญ ร้อยละ 3.44 ระบุว่า เป็นสังฆทานเวียน ร้อยละ 3.36 ระบุว่า เป็นการโยนเหรียญลงไปในบ่อที่มีสัตว์อาศัยอยู่ ร้อยละ 2.72 ระบุว่า เป็นการจับสัตว์มาเพื่อให้คนมาซื้อไปปล่อย ร้อยละ 1.60 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การเช่าบูชาวัตถุ เครื่องลาง ของขลังในวัดการบิณฑบาตรนอกเวลาของพระสงฆ์ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ทุกปัญหาที่กล่าวมา ร้อยละ 5.20 ระบุว่า ไม่มีปัญหาใด ๆ และร้อยละ 9.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 25.60 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.76 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.00 มีภูมิลำเนา อยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.36 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.56 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 6.08 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 13.20 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 17.76 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 38.56 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 21.76 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ตัวอย่าง ร้อยละ 21.60 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 68.64 สมรสแล้ว ร้อยละ 6.80 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 29.20 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.08 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.96 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.80 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.72 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.24 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 14.32 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.84 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.40 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.24 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.88 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.52 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.96 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.24 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.60 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 15.68 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 18.72 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 15.76 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ