6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ร่วมถกร่างแผนยุทธ์ศาสตร์ส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยฯ หวังผนึกกำลังเป็นแหล่งผลิตอาหารรายใหญ่ระดับโลก เตรียมเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเกษตร GMS ก.ย. นี้ ณ ประเทศกัมพูชา

ข่าวทั่วไป Thursday May 11, 2017 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) หรือประเทศหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะขยายการเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรที่ปลอดภัยและมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศ GMS มีความพร้อมที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งได้เปรียบในการเป็นแหล่งผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก และมีความได้เปรียบในเชิงแข่งขันในสินค้าหลายชนิด "ล่าสุด ได้มีการจัดประชุมสำหรับจัดทำร่างยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าฯ ร่วมกัน ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จากผู้แทนจากประเทศสมาชิก GMS โดยจะเสนอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเกษตรอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Agriculture Minister Meeting) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือนกันยายน 2560 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1) นโยบายและกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการผลิต การค้า และการลงทุนในห่วงโซ่คุณค่าฯ 2) โครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งสำหรับห่วงโซ่คุณค่าฯ แบบบูรณาการทั้งภูมิภาค 3) ระบบการแลกเปลี่ยนและการเผยแพร่นวัตกรรมเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าฯ และ 4) การพัฒนาตราสินค้าและช่องทางการตลาดเพื่อส่งเสริมให้ GMS เป็นผู้นำของโลกในห่วงโซ่คุณค่าฯ" นายระพีภัทร์ กล่าว ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะทำให้ประเทศสมาชิก GMS มีแนวทางการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าฯ ของอนุภาคที่ชัดเจน ตั้งแต่การผลิตจากแหล่งผลิตต่าง ๆ การแปรรูป การตลาด การจัดจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ทั้งตลาดภายในประเทศ ตลาดภายในภูมิภาค และตลาดโลก เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงตลาดของสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบได้ว่า ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศหรือนุภาค ควรพัฒนาด้านใดเพิ่มเติม เพื่อให้ประเทศ GMS เป็นผู้นำในการผลิตสินค้าด้านนี้ และทำให้ห่วงโซ่คุณค่าฯ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค ประเทศอนุภาคและภูมิภาค ทั้งนี้ หากร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้วเสร็จ และมีการรับรองแล้ว คาดว่าจะมีแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนด้วยงบประมาณมากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ