กสอ.เปิดโร้ดแมพปั้น 9 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ “เที่ยวได้ ขายดี ผลิตดัง” คาดช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากแตะหลัก 1 แสนล้าน ปี 65

ข่าวทั่วไป Monday May 15, 2017 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กสอ. ลงพื้นที่โชว์ศักยภาพ "ชุมชนบ้านศาลาดิน" หมู่บ้าน "UNSEEN" สุดครีเอทีฟ 30 นาทีจากกรุงเทพฯ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการรุกบูรณาการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวชุมชน จับมือ 10 หน่วยงาน/องค์การรัฐบาล เร่งเดินหน้าปั้นโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV นำร่องพัฒนา 9 หมู่บ้านในปี 2560 ได้แก่ 1.ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่ 2.ชุมชนน้ำเกี๋ยน จ.น่าน 3.ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย 4.ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี5.ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 6.ชุมชนประแส จ.ระยอง 7.ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม 8.ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา และ 9.ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ โดยในเบื้องต้นได้จัดสรรงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท พร้อมด้วยโครงการเพื่อการยกระดับศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชนอีกกว่า 10 โครงการ ทั้งนี้ กสอ. ได้ตั้งเป้าเพิ่มหมู่บ้าน CIV ให้ครบทุกจังหวัดหรืออีก 67 หมู่บ้านทั่วประเทศไทยภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดมูลค่าอุตสาหกรรมชุมชน (OTOP) ในปี 2565 ได้กว่า 1 แสนล้านบาท นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ มูลค่ามหาศาลให้แก่ประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทยมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้พัฒนามาไกลจนเกิดการบริการที่เชื่อมโยงกันและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจชุมชนในระดับฐานรากทั้งด้านการผลิตสินค้าและการบริการ สามารถสร้างทั้งโอกาสทางการตลาดและรายได้ให้กับประชากรในระดับท้องถิ่น ดังนั้น กสอ. จึงเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวนำมากำหนดแนวทางการพัฒนาด้วยการจัดตั้งโครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้วยการใช้ทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ การออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ มาเชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา พร้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัด ซึ่งแนวคิดที่กล่าวมานี้ จะช่วยยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น สามารถไต่ระดับขึ้นไปสู่ SMEs ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้วยนวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ มีการเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ การรวมกลุ่มหรือคลัสเตอร์ ทั้งยังจะเป็นแนวทางการผสมผสานในหลากหลายกิจกรรมที่จะช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยได้ต่อไป นายพรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการพัฒนาโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2560 นี้ กสอ. จะดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมนำร่องรวมทั้งหมด 9 หมู่บ้าน ใน 9 จังหวัดที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไปตามอัตลักษณ์ของชุมชน ประกอบด้วย 1.ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่ ชุมชนที่สืบเชื้อสายไทลื้อแคว้นสิบสองปันนา มีชื่อเสียงในด้านพระสายวัดป่า รวมทั้งผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้าน อาทิ ไม้กวาดทางมะพร้าว เครื่องสังคโลก 2.ชุมชนน้ำเกี๋ยน จ.น่าน ชุมชนวิถีสมุนไพรที่ลดการใช้สารเคมี สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ได้กว่า 30 รายการ สร้างชื่อ สู่สินค้าสุขภาพในร้านสปาชั้นนำระดับประเทศ 3.ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย แหล่งท่องเที่ยวชุมชนใน อ.ศรีสัชนาลัย ที่มีจุดชมพระอาทิตย์และทะเลหมอกอันงดงาม มีสินค้าโอทอปขึ้นชื่อ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลน เครื่องถมเงิน ข้าวเปิ๊ป 4.ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี พื้นที่มรดกโลกทางอารยธรรม และเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาและผ้าทอมือ 5.ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี สถานที่ที่รู้จักกันดีในฐานะแหล่งชุมชน คนมอญ และมีชื่อเสียงในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผา และขนมหวานอันเลื่องชื่อ 6.ชุมชนประแส จ.ระยอง แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณของเมืองท่าสำคัญฝั่งทะเลตะวันออก และเป็นแหล่งผลิตชาใบขลู่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากการประมงที่หลากหลาย 7.ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม จุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรริมคลองมหาสวัสดิ์ ที่มีความโดดเด่นด้วยสวนพืชผลทางการเกษตรมากมายหลากหลายชนิด และมีสินค้าแปรรูปจากการเกษตรที่โดดเด่น อาทิ ผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว ข้าวตังจากข้าวซ้อมมือ เป็นต้น 8.ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา เกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลสาบ มีสินค้าอันโดดเด่น ได้แก่ ผ้าเกาะยอ และหนังปลากระพงทอดกรอบ และ 9.ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ ชุมชนมุสลิมแห่งอ่าวนาง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก สามารถผลิตสินค้าจนเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะผ้าบาติกเรือหัวโทงจำลอง กระดาษใยสับปะรด ซึ่งการดำเนินงานตามนโยบายข้างต้น กสอ.จะร่วมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จำนวน 10 หน่วยงาน/องค์การ ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ท.ท.ท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อ.พ.ท.) ซึ่งจะประสานความร่วมมือ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการในระดับจังหวัด โดยในเบื้องต้นได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาไว้กว่า 40 ล้านบาท พร้อมด้วยโครงการและกิจกรรมเพื่อการยกระดับศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชนอีกกว่า 10 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชุมชน โครงการพัฒนาและรวมกลุ่มผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้งยังจะเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการและชาวบ้านในชุมชนด้วยการให้ความรู้ด้านแผนธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การบริหารจัดการด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดความน่าสนใจในผลิตภัณฑ์เดิม และผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้าด้วยการจัดทำผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบให้กับผู้ประกอบการ อาทิ เสื้อยืด หมวก กระเป๋าผ้า พวงกุญแจ สินค้าที่ระลึกอื่น ๆ รวมถึงการออกแบบโลโก้เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและความแตกต่างทั้งในเรื่องของรูปลักษณ์และคุณสมบัติการใช้งาน และที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาแล้วต้องตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและระดับสากล ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าว กสอ. ได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มหมู่บ้าน CIV ให้ครบทุกจังหวัดหรือครอบคลุม 67 หมู่บ้านทั่วประเทศไทยภายในระยะเวลา 5 ปี โดยในปี 2560 นี้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จะสามารถช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทั้งยังมุ่งหวังที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนใหม่ ๆ ให้เพิ่มขึ้นกว่า 5 % จากเดิมที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนรายการ (ที่มา : รวมผลการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประจำปีงบประมาณ 2559 กรมการพัฒนาชุมชน) โดยยังเชื่ออีกว่าหมู่บ้าน CIV เหล่านี้ จะช่วยผลักดันให้เกิดมูลค่าอุตสาหกรรมชุมชน (OTOP) ในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากเดิมในปี 2559 มีมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท นายพรเทพ กล่าวปิดท้าย อย่างไรก็ดี กสอ. ยังได้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมพื้นที่ชุมชนบ้านศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของ จ.นครปฐม และยังถือเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ถึงวิถีชุมชนแห่งคลองมหาสวัสดิ์ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี และยังเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีเอกลักษณ์ด้วยสวนผลไม้มากมายหลากหลายชนิด อาทิ มะม่วง หมาก ขนุน กระท้อน กล้วย มะละกอ รวมถึงส้มโอ ผลไม้ชื่อดังของจังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นด้วยผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อจากชุมชนไม่ว่าจะเป็นข้าวตังหลากชนิด สินค้าแปรรูปจากผลฟักข้าวครบวงจร รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปอีกมากมาย เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2367 8339 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ