สคร.10 อุบลฯ แนะ 5 วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

ข่าวทั่วไป Tuesday May 16, 2017 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี แนะ 5 วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูง เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก หลังพบคนไทยกว่า 13 ล้านคนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซ้ำเกินครึ่งไม่รู้ตัวว่าป่วย นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยในปี 2557 มีความชุกของโรคประมาณร้อยละ 25 คิดเป็นจำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงประมาณ 13 ล้านคน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 44 เท่านั้น ที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ขณะที่ผู้ป่วยที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคนี้แล้วราวร้อยละ 8-9 กลับไม่ยอมรักษา ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะสามารถนำไปสู่ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย และโรคหัวใจ ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย จากความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง ในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อสื่อสารและสร้างกระแสให้คนหันมาใส่ใจ โดยมุ่งเน้นการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และโรคไต ที่มีสาเหตุมาจากโรคความดันโลหิตสูง โดยมีคำขวัญเพื่อการรณรงค์ที่ว่า"Know Your Numbers หรือ ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่" ซึ่งอันตรายของโรคความดันโลหิตสูงคือเป็นแล้ว มักจะไม่มีอาการ กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำว่า ถ้าหากคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ต้องหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตสูงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องตรวจถี่ขึ้น ป่วยแล้วต้องรักษาต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย แต่สามารถควบคุมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ นอกจากนี้ ยังอยากรณรงค์ให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป หาเวลาไปตรวจวัดความดันโลหิตสูงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อความไม่ประมาทเช่นกัน นางศุภศรัย กล่าวต่อไปอีกว่า โรคความดันโลหิตสูง มักจะไม่มีสัญญาณเตือนหรือมีอาการแสดงให้เห็น ในตอนแรกหากมีความรุนแรงมากขึ้น จะแสดงอาการปวดศีรษะ ง่วงนอน ใจสั่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย วิงเวียนสับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในร่างกายที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคตา ซึ่งอาจนำไปสู่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การสนับสนุนให้ประชาชนเห็นความสำคัญใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองและรู้ค่าตัวเลขระดับความดันโลหิตสูงของตนเอง จะทำให้เกิดความตระหนักในการป้องกันควบคุมและลดความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูงลงได้ ซึ่งค่าความดันโลหิตปกติจะต้องน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ทั้งนี้ ขอแนะนำ 5 วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดังนี้ 1.การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด 2.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 150 นาทีต่อสัปดาห์ 3.งดการสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา 4.ควรรับการตรวจวัดค่าระดับความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ 5.การทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 /นางศุภศรัย กล่าวปิดท้าย ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก อินเตอร์เน็ต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ