เปิดตัว “ครู” ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2560 รมว.ศธ. ชี้เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาคือการสร้าง “ครูอาชีพ”

ข่าวทั่วไป Monday May 29, 2017 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 (The First Princess Maha Chakri Award Forum) โดยมีสุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้ง 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ให้แก่ครูไทย จำนวน 500 คน พร้อมแถลงข่าวเปิดตัว "ครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ประจำปี 2560" นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในระหว่างเป็นประธานการประชุมวิชาการนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 ว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษาไทยได้นับจากนี้ เพราะเป็นกระบวนการ PLC ที่ครูจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนจากครูที่มีชื่อเสียงและผลงานในระดับโลก ทั้งนี้เนื่องจากงานวิจัยของธนาคารโลกและหน่วยงานต่างๆ มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า ไม่มีประเทศใดเลยที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาหรือปฏิรูปการศึกษาได้หากไม่มีครูที่ดีที่สุด ดังนั้นคุณภาพครูจึงหมายถึงคุณภาพของการศึกษา และยังหมายถึงคุณภาพของประเทศนั้นๆ "ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา เกิดจากการที่เขาสามารถดึงเอาคนที่เก่งที่สุดและดีที่สุดเข้ามาเป็นครู วันนี้เรามีแนวคิดและแนวทางต่างๆ มากมายในการที่จะปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือมีนโยบายอะไรตามก็ไม่สามารถที่จะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ ตราบใดที่คุณภาพของครูยังไม่ได้รับการปฏิรูป" ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมหาจักรี รางวัลเกียรติยศแห่งความเป็นครูที่จัดขึ้นในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาเด็กและเยาวชนไทย โดยพระราชทานรางวัลแก่สุดยอดครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 ท่าน รวม 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งจะมีการคัดเลือกเป็นประจำทุก 2 ปี ในปี 2560 ถือเป็นการคัดเลือกครั้งที่ 2 โดยครูทั้ง 11 คน จะเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 "สำหรับครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ปี 2560 คือ นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เป็นครูผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้วยการจัดการเรียนรู้แนวใหม่บนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อเปิดโลกกว้างแก่นักเรียนให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่นอกตำราเรียน มาตั้งแต่ปี 2528 เป็นผู้บุกเบิกให้มีหลักสูตรการสอนไอซีที และนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาร่วมจัดการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนพัฒนานวัตกรรมจนชนะการประกวดทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง" นอกจากนี้ยังได้พิจารณารางวัล "คุณากร" จำนวน 2 รางวัล ซึ่งเป็นครูที่ผ่านการคัดเลือกรองสุดท้าย คือ นางนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครู กศน. ครูเพียงคนเดียวของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านกรูโบ อ.อุ้มผาง จ.ตาก พื้นที่ทุรกันดารบนดอยสูงที่สอนทุกชั้นทุกวิชาและทำหน้าที่เป็นหมอไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งพัฒนาอาชีพแก่ชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้จากการทอผ้า ธนาคารข้าว เลี้ยงหมู และปลูกผักปลอดสาร และ นายศรัณย์ ศรีมะเริง ครูนักพัฒนาดนตรีผู้เปลี่ยนชีวิตศิษย์ผ่านนวัตกรรมปัญจวิธี ใช้ดนตรีกล่อมเกลาจิตใจเยาวชน สร้างคนดีด้วยวงดนตรีวิถีพุทธ นอกจากนี้ยังมีรางวัล "ครูยิ่งคุณ" จำนวน 17 รางวัล และรางวัล "ครูขวัญศิษย์" จำนวน 136 รางวัล ซึ่งครูเหล่านี้ถือเป็นต้นแบบอันทรงคุณค่าและเป็นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์และการทำงานของครูรุ่นใหม่ นายจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คนที่ 2 ของประเทศไทย ครูเชี่ยวชาญจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ผู้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากครูพละไปสู่ครูผู้บุกเบิกการจัดการเรียนการสอนไอซีทีคนแรกๆ ของเมืองไทย กล่าวว่าวันนี้ถ้าเราอยากให้เด็กไทยก้าวเดินไปข้างหน้า เรื่องเทคโนโลยีต้องมาก่อน มีคำกล่าวหนึ่งของท่านดำรง ลัทธพิพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เคยกล่าวไว้ว่า "ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ ผู้ใดครองเศรษฐกิจ ผู้นั้นครองอำนาจ" ดังนั้นถ้าหากเราไม่รู้เทคโนโลยีก็จะตามหลังคนอื่นไปตลอด "วันนี้ทุกเรื่องๆ จะต้องเริ่มต้นจากที่ตัวครู ครูต้องสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้วยตัวของคุณครูเอง ครูจะต้องเข้าใจหัวใจของหลักสูตร เข้าใจตัวของลูกศิษย์ และปรับทุกๆ อย่างให้สอดคล้องกับเด็กด้วยหลักหรือหัวใจของวิชานั้นๆ ครูต้องสอนให้รู้จักที่จะหาวิชาความรู้ที่คงทนติดตัว แล้วต้องเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริง วันนี้เราพูดกันมากถึง education 4.0 และไทยแลนด์ 4.0 ครูอาจจะมองว่าต้องมีคอมพิวเตอร์ต้องใช้โปรเจคเตอร์มาสอน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันขึ้นอยู่กับวิธีการที่ครูจะสอนให้เด็กคิด การที่ครูต้องออกแบบนวัตกรรมในการสอนด้วยตนเอง ไม่ได้หมายความถึงการมีเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ไฮเทค แต่ทำอย่างไรให้กระดาษหนึ่งใบสามารถต่อไปเป็นนวัตกรรมในการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับตัวของเด็กเอง" นางนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูผู้ได้รับรางวัล "คุณากร" กล่าวว่า ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลจะมองว่าครูเป็นตัวแทนของในหลวง ดังนั้นหากความเหน็ดเหนื่อยของตนเองเพียง 1 คน สามารถทำให้คนอีกหลายๆ คนได้รับโอกาสและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เป็นสิ่งสมควรทำเพื่อประเทศชาติ เปรียบเสมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเสียสละ ทรงงานหนักเพื่อคนไทยอีก 60 ล้านคน ได้อยู่ดีมีสุข "ทุกวันนี้จะสอนให้เด็กรักพ่อรักแม่ รักครอบครัว รักชุมชน ไม่เน้นความเก่ง พยายามปลูกฝังให้ลูกศิษย์รักชุมชนของตนเอง เมื่อเขาเรียนจบเขาจะรักบ้านเกิดไม่ทิ้งถิ่นของตนเอง เพราะวันนี้ในการจัดการเรียนการสอนหรือหลักสูตรเรามักจะไม่ไม่เน้นคน ดี เน้นแต่คนเก่ง แม้ว่าความเก่งจะใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ถ้าเก่งแล้วไม่ดีหรือเก่งแล้วโกงจะมีประโยชน์อะไร" นายศรัณย์ ศรีมะเริง ครูผู้ได้รับรางวัล "คุณากร" กล่าวว่าดนตรีสามารถกล่อมเกลาจิตใจ สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ในการสอนนั้นไม่ได้มุ่งหวังให้ลูกศิษย์เป็นนักดนตรีแต่อยากให้เขาก้าวข้ามไปให้ไกลกว่าการเป็นนักดนตรี "ดนตรีจะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น หากเยาวชนไทยได้รับการสอนที่ถูกต้องและมีพื้นฐานที่มั่นคง พร้อมกับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมที่มุ่งมั่นและเหมาะสมกับวัยจนเกิดเป็นทักษะความชำนาญด้านดนตรีแล้ว เยาวชนคนนั้นก็จะสามารถพัฒนาตนเองทำให้สังคมนั้นน่าอยู่อย่างสุนทรี" "ท่านประธานองค์มนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยกล่าวถึงเรื่องของครูไทยในปัจจุบันว่ามีอยู่ 3 ประเภทคือ ครูอาชีพ ครูมืออาชีพ และอาชีพครู ครูอาชีพคือครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูนึกคิดและทำทุกอย่างเพื่อเด็ก ครูมืออาชีพคือครูที่สอนเก่งมีเทคนิคต่างๆ ในการสอน และสุดท้ายอาชีพครูคือคนที่สอนไปวันๆ เพื่อรอวันเงินเดือนออก วันนี้เราต้องร่วมกันสร้างและสนับสนุนครูทุกคนให้พัฒนาตนเองจากอาชีพครูและครูมืออาชีพ ไปสู่การเป็นครูประเภทแรกหรือครูอาชีพให้ได้ เพราะการศึกษาในวันนี้จะต้องเป็นไปเพื่อ learn for life ไม่ใช่ for Living เพียงอย่างเดียว รางวัลที่มอบให้กับครูในครั้งนี้จึงเป็นการยกย่องความในเป็นครูอาชีพที่แท้จริง และจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับครูคนอื่นๆ ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อลูกศิษย์ อนาคตของเด็กไทยจึงอยู่ในมือของคุณครูทุกๆ ท่าน" นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ