ปภ.รายงานมีน้ำท่วมขังในจังหวัดสุโขทัย พร้อมประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 29 พ.ค. 60

ข่าวทั่วไป Monday May 29, 2017 18:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 16 – 29 พฤษภาคม 2560 เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 15 จังหวัด รวม 52 อำเภอ 177 ตำบล 991 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,074 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำในอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ระดับน้ำเริ่มลดลง ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมประสานจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในวันที่ 29 พ.ค. 60 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง โดยตั้งแต่วันที่ 16 – 29 พฤษภาคม 2560 มีพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 15 จังหวัด รวม 52 อำเภอ 177 ตำบล 991 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,074 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำในอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย รวม 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลสามพวง ตำบลทุ่งหลวง ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,119 ครัวเรือน 39,654 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 17,655 ไร่ มีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร โดยจังหวัดได้เร่งระบายน้ำออกทางประตูระบายน้ำปากพระ ตำบลบางซ้าย และระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง และมีแนวโน้มเคลื่อนขึ้นไปบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนและเมียนม่า ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ