คณะแพทย์ฯ ม.นเรศวร เดินหน้าปฏิรูปการสอน ดึงนวัตกรรมเรียนร่วมสหวิชาชีพ “IPE” เสริมหลักสูตร “แพทย์ 7 ดาว” ชี้ลดขัดแย้ง-สร้างบัณฑิตสุขภาพคุณภาพ คาดเริ่มใช้ปี 62

ข่าวทั่วไป Friday June 9, 2017 12:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--Progress Thailand คณะแพทยศาสตร์ มน. จับมือ ศสช. และเครือข่ายการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ DHS (District Health System) เขตภาคเหนือตอนล่าง จัดงาน"เชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21" ขับเคลื่อนการปฏิรูปบุคลากรด้านสุขภาพในพื้นที่ ตามแนวคิดเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง "Transformative Learning" พร้อมดึงนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ "สหวิชาชีพ" เสริมความเข้มแข็งหลักสูตร "แพทย์ 7 ดาว" หวังผลิตบัณฑิตแพทย์และบัณฑิตด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพระหว่างปฏิบัติงาน คาดเริ่มใช้จริงในปีการศึกษา 2562 วันนี้ (5 มิ.ย. 2560) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และ เครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) เขตภาคเหนือตอนล่าง จัดงานสัมมนา "เชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21" ภายใต้ โครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปบุคลากรด้านสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ตามแนวคิด เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) พร้อมเปิดตัวหลักสูตรผลิตแพทย์และบุคลากรสุขภาพแนวใหม่ ดึงนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ "สหวิชาชีพ" (Interprofessional Education : IPE) เข้าช่วยเสริมความเข้มแข็งให้หลักสูตร "แพทย์ 7 ดาว" (7Star Doctor) ของมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเป็นการผลิตบัณฑิตแพทย์และบัณฑิตด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และบรรยายพิเศษในหัวข้อ "กำลังคนที่ตอบสนองต่อกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ Primary Care Cluster" ณ ห้องประชุม CC2-801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ด้วยปณิธานที่ตั้งเป้าให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จึงเห็นควรปฏิรูปการเรียนการสอนของทางคณะให้เป็นไปในแบบ Transformative Learning ที่นำการเรียนรู้แนวใหม่มาสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านทัศนคติรวมถึงวิธีลงมือปฏิบัติ ให้กับว่าที่บัณฑิตด้านสุขภาพและอาจารย์ผู้สอน โดยล่าสุดได้นำนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ หรือ IPE ซึ่งเป็นหนึ่งในการเรียนรู้แบบ Transformative Learning มาเสริมหลักสูตรผลิตแพทย์ 7 ดาว ซึ่งเดิมพัฒนามาจากหลักสูตรแพทย์ 5 ดาว (5 Star Doctor) ของ WHO เพราะเล็งเห็นว่ามีหลักคิดที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในด้านการสร้างภาวะผู้นำในการปฏิบัติงานร่วมกัน การสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวิชาชีพ รวมถึงการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นกลไลช่วยผลิตบัณฑิตแพทย์และบัณฑิตด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับความต้องการของทาง สธ. และสังคมไทยในอนาคต รศ.นพ.ศิริเกษม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนรูปแบบการศึกษาแบบสหวิชาชีพ หรือ IPE เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านสุขภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น พยาบาล เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ ฯลฯ เข้าเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างวิชาชีพเมื่อต้องปฏิบัติงานจริง และเชื่อมโยงการทำงานด้านสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อสังคมไทยที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักสูตรและทดลองใช้ เบื้องต้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และคาดกว่าจะเปิดใช้จริงในปี 2562 "บัณฑิตแพทย์ที่จบไป หลักๆ มีความสามารถในการตรวจรักษา แต่สื่อสารไม่ค่อยเป็น ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ค่อยได้ ซึ่งหากคนที่มาเป็นหมอไม่สามารถสื่อสารกับคนไข้ได้ ไม่สามารถทำงานร่วมกับทีมเวิร์กได้ ทุกอย่างก็จบ ซึ่งหลักการเรียนรู้แบบ IPE จะเข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ ที่สำคัญยังส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วย ที่บุคลากรด้านสุขภาพจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำงานร่วมกันเพื่อการรักษาอย่างดีที่สุด ต่างจากเดิมที่เป็นคำสั่งแบบ Top-Down แพทย์สั่งมาอย่างไรก็ต้องทำไปแบบนั้น ทั้งที่รู้ว่าผิดก็มี และเกิดเป็นกรณีฟ้องร้องเป็นคดีความระหว่างวิชาชีพ หรือฟ้องร้องระหว่างบุคลากรสุขภาพกับคนไข้ ซึ่งเคสดังกล่าวมีจำนวนมากในแต่ละปี และพบว่ามีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี" คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุ ขณะที่ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการสร้างกลไกระบบเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) กล่าวว่า การสร้างเครือข่าย DHS ให้กลายเป็นระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของบุคคลากรทางด้านสาธารณสุข จากการสอนแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพด้านสุขภาพในแบบแยกกันเรียน มาเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่เรียกว่าโครงการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ หรือ IPE โดยขณะนี้ ทางโรงพยาบาลอุบลรัตน์ได้เริ่มทำโครงการ IPE แล้ว โดยเป็นการร่วมมือกับโรงพยาบาลขอนแก่นและกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งแพทย์และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาร่วมเรียนรู้เรื่องดังกล่าว ไปพร้อมกับกลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพ อย่าง พยาบาล เภสัชกร รวมถึงนักศึกษาแพทย์ ซึ่งพื้นที่การเรียนรู้มีทั้งในโรงพยาบาลและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวบ้าน ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลอุบลรัตน์ที่เพิ่งเริ่มเดินหน้าโครงการ ยังมีโรงพยาบาลอื่นๆ นำแนวคิด IPE ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน เช่น โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลละงู จ.สตูล และโรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่ "ถ้าตอนเรียนกลับแยกกันโดยสิ้นเชิงในแบบต่างคนต่างเรียนต่างคนต่างสอน จบแล้วก็หวังว่าจะมาทำงานด้วยกันได้ แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นเสมือนสนามรบ เพราะต่างคนต่างทำงานของตัวเองไม่เข้าใจบริบทของกันและกัน และกลายเป็นการรักษาแบบลองถูกลองผิด ซึ่งสุดท้ายผลเสียก็ตกอยู่ที่คนไข้ ดังนั้น การเรียนรู้แบบ IPE ตั้งแต่ตอนเรียน จะทำให้การทำงานร่วมกันของบุคคลากรด้านสุขภาพมีความสมูท เพราะในชีวิตจริงแพทย์กับพยาบาลทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีสหวิชาชีพหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือกัน การเรียนรู้กันและกันว่าหน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร และจะทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ไม่ซับซ้อน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ อธิบายเพิ่ม ด้าน ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ผู้จัดการโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 กล่าวถึงความคืบหน้าในการใช้แนวทางการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ หรือ IPE ช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิรูปบุคลากรด้านสุขภาพภายในประเทศตามพันธกิจขององค์กรว่า ทาง ศสช. ใช้เวลาประมาณ 2 ปี เขียนบทเรียนการเรียนรู้แบบ IPE สำหรับแต่ละวิชาชีพไว้เป็นแนวทางเสร็จแล้วในหลายเรื่อง ซึ่งองค์กรที่สนใจโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ทันที โดยบทเรียน IPE ที่ ศสช.จัดทำขึ้นนั้น มาจากการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงานที่ศึกษาลงลึกในแต่ละวิชาชีพ ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติจริงในองค์กรกลุ่มเป้าหมาย และนำผลที่ได้มาปรับปรุงนำเสนอไว้เป็นแนวทางกลาง ขณะนี้ เหลือเพียงวิธีประเมินผลที่กำลังดำเนินการจัดทำ "จริงๆ การเรียนรู้แบบสหวิชาชีพไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553-2554 ในชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่ความหมายก็คือการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่สองวิชาชีพ เรียนได้ในทุกสถานการณ์ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต "Learn as if you will live forever" เพื่อให้เกิด 1.การเรียนรู้ว่าแต่ละวิชาชีพมีบทบาท ความรับผิดชอบอะไร 2.รู้จักภาวะความเป็นผู้นำ 3. การทำงานเป็นทีมอย่างเข้าใจกันและกัน และ 4.การเรียนสอนสะท้อนย้อนคิด เพียงแต่ตอนนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจมากขึ้น เพราะองค์กรด้านสุขภาพหลายแห่งปฏิบัติแล้วเห็นประสิทธิผล อย่างไรก็ตาม การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบสหวิชาขีพไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคณะและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องรวมถึงอาจารย์ผู้สอน และยังต้องอาศัยเวลาในการเปลี่ยนผ่านที่จะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ และในอนาคตตั้งเป้าให้คณะและสาขาวิชาชีพอื่นๆ นอกจากด้านสุขภาพ เข้าร่วมเรียนในลักษณะนี้ด้วย เพราะคนหนึ่งคนหนึ่งที่จะมีสุขภาวะที่ดีนั้น ไม่ได้หยุดแค่มิติของสุขภาพอีกต่อไป ต้องมีมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และจิตใจรวมถึงคนรอบข้างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย" ผู้จัดการโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ชี้แจงเพิ่ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ