ปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการฝึกฯ เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

ข่าวทั่วไป Friday June 9, 2017 18:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2560 ในช่วงระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2560 ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา โดยมีขอบเขตการฝึกแบ่งเป็น 6 สถานี ครอบคลุมทั้งการจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ร่วม การเผชิญเหตุอาคารถล่ม การปฏิบัติการทางการแพทย์ การบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว การสนับสนุนทางอากาศ และการจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการรองรับสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน สาธารณภัยมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้ง มีรูปแบบซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการภาวะฉุกเฉิน ให้มีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางของภาครัฐดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ จึงได้กำหนดจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2560 ในช่วงระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2560 ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกฯ ประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก มูลนิธิ องค์กรการกุศล และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น โดยจำลองสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงและควบคุมได้ยาก จำเป็นต้องยกระดับเป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) โดยมีขอบเขตการฝึกฯ แบ่งเป็น 6 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ร่วม และการสถาปนาสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) เพื่อจัดตั้งองค์กรปฏิบัติการจัดการในภาวะฉุกเฉิน เป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลัง และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย 2.สถานีการเผชิญเหตุอาคารถล่ม เป็นการฝึกการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง การจัดการสารเคมีรั่วไหลในอาคาร และสารเคมีที่เกิดจากท่อก๊าซรั่ว 3.สถานีปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อดำเนินการด้านการรักษาพยาบาล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นและนำส่งสถานพยาบาล 4.สถานีศูนย์พักพิงชั่วคราว วางแนวทางการบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว ทั้งการจัดการด้านอาหาร น้ำดื่ม เครื่องนอน และการดูแลความปลอดภัยของผู้ประสบภัย 5.สถานีสนับสนุนทางอากาศ เป็นการปฏิบัติการทางอากาศช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว 6.สถานีการจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อแสดงศักยภาพทรัพยากรของหน่วยงาน ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความพร้อมของประเทศไทยในการจัดการ สาธารณภัย ทั้งนี้ การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการรองรับสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ