มหาวิทยาลัยนเรศวรจับมือสพฐ. เดินเครื่องโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและท้องถิ่น กับโรงเรียนนำร่องในเขตภาคเหนือตอนล่าง บูรณาการเทคนิคการสอนประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในแบบชุมชน

ข่าวทั่วไป Friday June 16, 2017 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๘ – ๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ โรงเรียนพิณพลราษฎร์ ตั้งตรงจิตร ๑๒ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ "พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงประจำปี ๒๕๖๐ เครือข่ายอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ให้กับโรงเรียนนำร่อง ๙ แห่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า "มหาวิทยาลัยนเรศวรได้มอบหมายให้สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการ วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการเรียนการสอนให้ครูและนักเรียนเกิดการสร้างความรู้จากประสบการณ์ ลงมือปฏิบัติและสามารถคิดสร้างสรรค์เองได้ ประกอบด้วย ๒ โครงการคือ โครงการการพัฒนาวิธีวิทยาและเทคนิคสอนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาเป็นพลเมืองและจิตสำนึกสาธารณะ อีกหนึ่งโครงการคือการพัฒนาวิธีวิทยาและเทคนิคสอนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาแบบบูรณาการกับวิทยาศาสตร์" โครงการนี้มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน ๙ แห่ง ประกอบด้วยโรงเรียนในจังหวัดพิษณุโลก คือ โรงเรียนพิณพลราษฎร์ ตั้งตรงจิตร ๑๒, โรงเรียนท่าทองพิทยาคม, โรงเรียนเนินมะปรางศึกษา, โรงเรียนชาติตระการวิทยา, โรงเรียนนครไทย เข้าร่วมโครงการการพัฒนาวิธีวิทยาและเทคนิคสอนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาเป็นพลเมืองและจิตสำนึกสาธารณะ พร้อมด้วยโรงเรียนจากจังหวัดอุทัยธานี คือ โรงเรียนอุทัยวิทยาคม, โรงเรียนบ้านไร่วิทยา, โรงเรียนทัพทันอนุสรณ์ และโรงเรียนหนองฉางวิทยา เข้าร่วมโครงการการพัฒนาวิธีวิทยาและเทคนิคสอนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาแบบบูรณาการกับวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล กล่าวต่อว่า "ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๙ บุคลากรสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินได้ลงพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนให้แก่ครูและนักเรียนของโรงเรียนทั้ง ๙ แห่ง ได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีการสืบค้นข้อมูล รู้จักกระบวนการสืบค้น จัดเก็บ สอบถาม และประกอบแผนที่ชุมชน สำหรับการอบรม ๒ วันนี้เป็นการนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม ในรูปแบบต้นไม้ชุมชน ตุ๊กตาธุรกิจครอบครัว สรุปความเชื่อมโยงและสิ่งที่ได้เรียนรู้ในประเด็นประวัติศาสตร์ จิตสำนึกสาธารณะ ตลอดจนการนำประวัติศาสตร์มาบูรณาการกับวิทยาศาสตร์ อันจะก่อเกิดแนวทางการพัฒนาเส้นทางและกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาการเป็นเจ้าบ้านที่ดี สู่การเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นต่อไป" ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา ทางสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ประสบความสำเร็จในการจัดโครงการกับโรงเรียนนำร่องคือ โรงเรียนพิณพลราษฎร์ ตั้งตรงจิตร ๑๒ ปีนี้จึงได้นำมาต่อยอดกับโรงเรียนอื่น ๆ และจะขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่างต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ