ปภ.แนะสตรีมีครรภ์เตรียมพร้อม – เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติ...เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

ข่าวทั่วไป Thursday June 22, 2017 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สตรีมึครรภ์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการเดินทาง เนื่องจากสภาพร่างกายและสรีระ ที่เปลี่ยนแปลงในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหากประสบอุบัติเหตุ จะทำให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรง ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้งและเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการเดินทางสำหรับสตรีมีครรภ์ ดังนี้ ก่อนเดินทาง พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและประเมินความพร้อมของสภาพร่างกาย หากเจ็บป่วยควรพักผ่อนและรักษาตัว ให้หายก่อนเดินทาง เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลในช่วงเริ่มตั้งครรภ์และใกล้คลอด จัดเตรียมสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็น อาทิ ยา บันทึกสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของแพทย์และโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงควรมีเพื่อนร่วมทาง หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีคนคอยช่วยเหลือ วางแผนท่องเที่ยวในสถานที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวตามยอดเขาสูง เนื่องจากมีปริมาณออกซิเจนน้อย อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และห้ามประกอบกิจกรรมทางน้ำทุกประเภท โดยเฉพาะการดำน้ำ เพราะจะได้รับอันตราย จากความกดอากาศใต้น้ำ การโดยสารยานพาหนะ รถยนต์ นั่งบริเวณเบาะด้านหน้าข้างคนขับ โดยปรับเปลี่ยนพนักพิงไปด้านหลังให้มากที่สุดในลักษณะกึ่งเอนนอน พร้อมใช้หมอนหนุนหลังและรองคอ เพื่อป้องกันอาการเมื่อยล้า คาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธี โดยแนวทแยงคาดผ่านร่องอกลงไปตามแนวโค้งของท้อง ปรับสายเข็มขัดนิรภัย ให้กระชับ ไม่บิดเป็นกลียว ส่วนแนวนอนอยู่บริเวณใต้ท้อง เหนือต้นขาและกระดูกเชิงกราน ห้ามคาดทับบริเวณหน้าท้องโดยตรง เพื่อป้องกันแรงกระชาก ทำให้เกิดอันตรายได้ รถโดยสารประจำทาง หลีกเลี่ยงการใช้บริการรถโดยสารที่มีคนหนาแน่น เพราะอาจถูกเบียดล้มและเป็นลม ก่อให้เกิดอันตรายได้ ระมัดระวังอุบัติเหตุขณะขึ้น – ลงบันได และระหว่างรถชะลอความเร็ว ควรรอให้รถจอดสนิท ค่อยเดินขึ้น – ลงรถ ไม่ยืนบริเวณบันไดหรือโดนรถเมล์ เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตกและหกล้ม เลือกนั่งบริเวณตอนกลางของรถและติดกับทางเดิน เพราะจะได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด รถไฟฟ้า เพิ่มความระมัดระวังอันตราย โดยเฉพาะบริเวณบันไดเลื่อน เพราะอาจสะดุดล้ม ทางเข้าออกประตูรถไฟฟ้าที่มี คนใช้บริการหนาแน่น เพราะอาจถูกกระแทกหรือหกล้มได้ หลีกเลี่ยงการใช้ทางเข้าออกอัตโนมัติ เพื่อป้องกันที่กั้นปิดลงมากระแทกท้อง เพื่อความปลอดภัย ควรใช้ทางเข้าออกสำหรับสตรีมีครรภ์ ยืนรอรถไฟฟ้าบนชานชาลาหลังเส้นเหลืองที่กำหนด ห้ามยืนหรือล้ำเข้าไปในเส้นที่กำหนด เพื่อป้องกันการพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้า ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพราะการทรงตัวไม่ดี ทำให้เสี่ยงต่อการตกรถ และได้รับอันตราย หากจำเป็นต้องโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรใช้ความเร็วต่ำและสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง จะช่วยลด ความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ