วธ.เดินหน้าพัฒนาระบบนำชม พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ-อุทยานประวัติศาสตร์ ใช้ระบบคิวอาร์โค้ด-เออาร์โค้ดนำชมโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุล้ำค่า ชู “สมาร์ท มิวเซียม” ดึงดูดนักท่องเที่ยว-ประชาชนเข้าชมเพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday June 26, 2017 12:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการบริการการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ทันสมัยและน่าสนใจ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน ซึ่งปัจจุบัน วธ. โดยกรมศิลปากร (ศก.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้พัฒนาการจัดแสดงและระบบนำชม โดยมีการติดตั้งระบบคิวอาร์โค้ด และเออาร์โค้ด ซึ่งใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟน ไอแพดและแท็บเล็ตที่จะแสดงข้อมูลและภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชมทำให้ได้รับความรู้และข้อมูลอย่างรวดเร็ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมศิลปากร ได้ติดตั้งระบบคิวอาร์โค้ดแล้วในอุทยานประวัติศาสตร์ 9 แห่ง 168 รายการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 41 แห่ง 686 รายการ และโบราณสถาน 16 รายการ นอกจากนี้ ได้นำร่องติดตั้งระบบเออาร์โค้ด ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 3 แห่งได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อีกทั้งได้จัดทำโครงการ "สมาร์ท มิวเซียม"(Smart museum) ซึ่งเป็นระบบนำชมในรูปแบบของระบบเสมือนจริง (virtual reality) ผ่านสมาร์ท โฟนโดยนำร่องที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 138 รายการ ทั้งนี้ เด็ก เยาวชนและประชาชนสามารถเข้าชมได้ที่ www.virtualmuseum.finearts.go.thและwww.qrcode.finearts.go.th อย่างไรก็ตาม วธ.ตั้งเป้าหมายเมื่อดำเนินโครงการพัฒนาการจัดแสดงและระบบนำชมแหล่งเรียนรู้ต่างๆแล้ว จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว เด็กและเยาวชนมาเข้าชมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า 10.5 ล้านคน นายวีระ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน วธ. ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่างๆในอนาคต โดยจะใช้ระบบนำชมและให้บริการข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาไปสู่ระบบเสมือนจริง อาทิ การเพิ่มจำนวนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในโครงการ "สมาร์ท มิวเซียม" การให้บริการชมโบราณสถานด้วยระบบเสมือนจริง เป็นต้น เพื่อให้ความรู้พื้นฐานและช่วยจูงใจให้นักท่องเที่ยว เด็กและเยาวชนเกิดความต้องการเดินทางไปศึกษาเรียนรู้จากสถานที่จริง ซึ่งนอกจากได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว ยังนำไปสู่การสร้างความตระหนัก หวงแหนและร่วมกันอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ไปถึงคนรุ่นหลังอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ