บลจ.วรรณ มองหุ้นไทยมีแรงหนุนจากสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศ

ข่าวบันเทิง Tuesday June 27, 2017 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--บลจ.วรรณ บลจ.วรรณ มองดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นหลังประกาศตัวเลขการส่งออกดีขึ้น ระยะสั้นมีโอกาสปรับขึ้นได้ แนะติดตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและการแข็งค่าของเงินบาทในระยะถัดไป มองกรอบสัปดาห์นี้ 1,560-1,600 จุด นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด(บลจ.วรรณ) เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเคลื่อนไหวในลักษณะ Side way up เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขส่งออกไทยเดือน พ.ค.ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามจากนี้ คือ ทิศทางราคาน้ำมันดิบ และการแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ   "สัปดาห์นี้ อาจมีแรงซื้อเพิ่มขึ้นจากการทำ Window Dressing ของไตรมาส2/60 รวมถึงการทำ IndexRebalance ของดัชนี SET50 และ SET100 ซึ่งอาจทำให้ผู้จัดการกองทุนมีการปรับพอร์ตการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้อง โดยประเมินกรอบการเคลื่อนตัวของดัชนีที่ระดับ 1,560 -1,600 จุด" นายมณฑล กล่าว สำหรับปัจจัยจากต่างประเทศ คาดว่า จะมีแรงซื้อเก็งกำไรในระยะสั้นในตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market หลังประเทศสหรัฐฯ และยุโรปประกาศตัวเลข PMI ภาคบริการที่ต่ำกว่าคาดการณ์ รวมถึงแนวโน้มการปรับลด Corporate tax ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากภาวะอุปทานที่มากเกินไป ขณะที่นักลงทุนยังคงต้องติดตามสุนทรพจน์ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 27 มิ.ย. 60 โดยจะทราบรายละเอียดในเช้าวันที่ 28 มิ.ย. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเจรจาแนวทางการปรับลดขนาดงบดุลของเฟดรวมถึงทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หลายสาขามีมุมมองที่แตกต่างกัน อีกทั้งติดตามในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ จะมีการโหวตยกเลิกมาตรการ Obamacare ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนก็อาจส่งผลกดดันภาพรวมการลงทุน ในส่วนของราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงประมาณ 20% นับตั้งแต่ต้นปี มองว่าเป็นตามอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเร่งผลิตของประเทศลิเบียและไนจีเรีย ขณะที่อุปสงค์ยังคงฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า อย่างไรก็ดี ระยะถัดไปราคาน้ำมันมีโอกาสทรงตัวได้ โดยยังคงต้องติดตามความชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณการส่งออกน้ำมันของประเทศซาอุฯ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เดือนมิ.ย. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมถึงความตึงเครียดของกลุ่มประเทศอาหรับตะวันออกกลางกับประเทศกาตาร์ อีกทั้งในไตรมาส 3 จะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับไตรมาส4 เนื่องจากเป็นฤดูหนาว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนทิศทางราคาน้ำมัน ในช่วงปลายปีได้ โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ