กรมส่งเสริมสหกรณ์ชูสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด ต้นแบบการส่งเสริมชาวบ้านยึดอาชีพทำเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 28, 2017 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ต่อคณะรัฐมนตรี โดยจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรฯ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 1,333,860 ไร่ และมีจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 96,670 ราย เพิ่มสัดส่วน ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ ร้อยละ 40 และตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 60 รวมทั้งยกระดับ กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการส่งเสริมการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด เป็นสถาบันเกษตรกรที่มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์แทนการปลูกพืชแบบสารเคมี เพื่อให้ชาวบ้านมีความปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน พร้อมทั้งจัดหาตลาดชุมชนเพื่อเป็นจุดจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่หันมาสนใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และพิถีพิถันกับการเลือกซื้อพืชผักผลไม้อินทรีย์ไปบริโภคจำนวนมาก และเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสซื้อหาสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 จากการประเมินผลการยกระดับสหกรณ์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานระดับชั้น 1 สมาชิกแรกตั้ง 202 คน ทุนแรกตั้ง 1,138,774.00 บาท ปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้มีสมาชิก จำนวน 306 คน สหกรณ์มีทุนดำเนินงาน 5,405,454.16 บาท นายประยูร อินสกุล กล่าวถึงผลของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ต่อไปว่า สหกรณ์ได้ส่งเสริมสมาชิกปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้านและผักสวนครัว และผลไม้ส่วนหนึ่ง รวมถึงยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกข้าวอินทรีย์ ประเภท ข้าวกล้องและข้าวไรซ์เบอรี่ โดยสหกรณ์ดำเนินธุรกิจ 6 ด้าน เป็นธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตมากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจรวบรวมผลิตผล การให้สินเชื่อ เพื่อการประกอบอาชีพแก่สมาชิก การรับฝากเงิน การจัดหาสินค้าและปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่อการทำเกษตรอินทรีย์มาจำหน่ายให้สมาชิก และยังดำเนินการจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าการเกษตรอินทรีย์ ให้แก่สมาชิกด้วย ทั้งนี้ ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ตลาดในโรงเรียนดาราวิทยาลัย ตลาดในโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ตลาดนัดเจเจมาร์เก็ต ซึ่งจำหน่ายในวันเสาร์ ตลาดในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หมู่บ้าน Land and House ใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และช่องทางการจำหน่ายข้าวอินทรีย์ ได้แก่ ร้านค้าสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด, และยังเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทาง website / Face book / Line, รวมถึงส่งไปจำหน่ายยัง ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์และเครือข่ายร้านค้าสหกรณ์ในจังหวัดและต่างจังหวัด และยังได้ร่วมกับสำนักงานสสส.นำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดเกษตรอินทรีย์ ณ บริเวณโครงการจริงใจมาร์เก็ต และที่ตลาดต้องชม ซึ่งร่วมกับพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ด้วย โครงการเด่นในปี 2560 สหกรณ์ดำเนินการส่งเสริมและให้บริการสมาชิกในด้านการประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PGS ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องการรับรองร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิก ดังนี้ 1. หลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการผลิตในระบบอินทรีย์ 2. การลดต้นทุนการผลิตพืชด้วยการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนในครัวเรือนและการผลิตจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 3. การนำผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 4. พัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มสมาชิก 5. ประชาสัมพันธ์ตลาด โดยเน้นสร้างความเข้าใจในระบบเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคสัญจรไร่นา นายประยูร อินสกุล กล่าวถึงโครงการที่สหกรณ์ได้ดำเนินการร่วมกับกรมฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และโครงการเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น โดยสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด เข้าร่วมโครงการ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผักปลอดภัย/อินทรีย์ในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาดูแลสนับสนุน รวมถึงยังมีโครงการระบบการตรวจสอบย้อนกลับกับกรมวิชาการเกษตร โครงการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) กับกรมพัฒนาที่ดินและมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย รวมถึงยังเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการรับรองการผลิตสินค้าภายใต้โครงการเฝ้าระวังมาตรฐานสินค้าเกษตรของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และการกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์ร่วมกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรด้วย ในช่วงที่ผ่านมานั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญและถือเป็นภารกิจเร่งด่วนในขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์และการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นในอนาคต นางผ่องพรรณ สะหลี เจ้าของสวนฮ่มสะหลี อยู่บ้านเลขที่ 112/2 หมู่ 1 ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หนึ่งในสมาชิกสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด เล่าว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นนาข้าว จำนวน 2 ไร่ 70 ตารางวา ต่อมาได้มีการขุดบ่อ และขุดร่องทำสวน โดยเริ่มทำสวนมาตั้งแต่ปี 2556 ตอนแรกปลูกผักไว้กินเอง ต่อมาก็เริ่มก็ปลูกเยอะขึ้นๆ โดยจะเน้นปลูกผักสวนครัว เช่น ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วลันเตา พริกขี้หนู จิงจูฉ่าย ผักบุ้ง ผักตามฤดูกาล หรือผักเมืองหนาว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มะม่วง ลำไย กล้วย มะพร้าว หม่อน อัญชัน เสาวรส อย่างละไม่ กี่ต้น โดยยึดการทำเกษตรแบบผสมผสานและหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงเป็นแบบอย่าง เริ่มจากการขุดร่อง ปลูกหญ้าแฝก และปลูกพืชผักอินทรีย์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องของจัดหาตลาดให้เกษตรกรไปจำหน่ายผลผลิต ทุกวันนี้ทำให้มีพืชผักไปวางขายที่กาดแม่โจ้ และตลาดเจเจ ขายเฉพาะ วันศุกร์-อาทิตย์ มีรายได้ 8,000 กว่าบาทต่อสัปดาห์ "รู้สึกภูมิใจที่ได้มีอาชีพเกษตรกร มีชีวิตอย่างพอเพียง และยังเป็นเกษตรกรต้นแบบให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ อีก ซึ่งในอนาคตมีโครงการจะขยายพื้นที่ปลูกพืชผักอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจาก ความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น จึงอยากจะเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชอินทรีย์กันมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัย และส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรและยังมีรายได้ดีกว่าการปลูกพืชด้วยสารเคมีอีกด้วย " นางผ่องพรรณ กล่าว ด้านนางจันทร์ทอน เสาร์แก้ว ผู้จัดการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ แห่งนี้มีการรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตร เริ่มแรกสมาชิกได้ทำการปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งในตอนนั้นเรายังไม่รู้จักคำว่า "อินทรีย์" ส่วนหน้าที่หลักๆ ของสหกรณ์ก็จะมีการส่งเสริมสมาชิกในเรื่องของการผลิต การแปรรูป การตลาด การตรวจสารพิษตกค้าง การผลิตสินค้าตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานอื่นๆ ที่สามารถส่งออกได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยทางสหกรณ์ฯ จะเข้าไปแนะนำสมาชิกให้ปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นดินในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ฯ ยังได้เซ็นสัญญากับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์มี 300 กว่าราย จะผ่านการอบรมเพิ่มความรู้ในการปลูกพืชด้วยเกษตรอินทรีย์ เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดิน การปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แยมลูกหม่อน แชมพู น้ำยาล้างจาน ฯลฯ "อยากจะบอกว่าการทำเกษตรอินทรีย์ในช่วงแรกๆ จะมีต้นทุนการผลิตสูงหน่อย ส่วนปีต่อๆ ไปต้นทุนก็จะลดลง ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานภายในครัวเรือน เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากทีเดียว โดยจะเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานเป็นหลัก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม สวนเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้ ตลอดเวลา" ผู้จัดการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ