การศึกษาไทยยุคไทยแลนด์ 4.0 นวัตกรรมนำความรู้มุ่งสู่การผลิตจริง

ข่าวทั่วไป Thursday June 29, 2017 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม การศึกษาไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่ององค์ความรู้ และการนำความรู้มาปรับใช้ได้จริงในชีวิต โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันสินค้าไทยไม่สามารถต่อสู้บนเวทีโลกได้ ด้วยปัจจัยที่ว่าไม่มีความแตกต่าง ดังนั้น การผลิตสินค้าให้มีนวัตกรรม คือ การสร้างความแตกต่างและความต้องการของตลาดให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี "ประเทศไทยในแต่ละยุคนั้นมีความแตกต่างกัน ยุค 1.0 เป็นยุคสินค้าเกษตรกรรม ยุค 2.0 เป็นยุคมุ่งสู่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขนาดเบา ยุค 3.0 เป็นยุคของอุตสาหกรรมหนัก ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในการขับเคลื่อนประเทศ การศึกษาก็เช่นกันกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 ยุคนี้การศึกษาต้องเน้นการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม" ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต กล่าว วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) คือ หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตลอด 10 กว่าปี วิทยาลัยได้สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถพลังงานแสงอาทิตย์ ถุงมืออัจฉริยะ ถังขยะโอโซน สถานีอัดประจุไฟฟ้า ฯลฯ โดยเฉพาะรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-1 เป็นผลงานนวัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก รถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-1 ปรากฏตัวครั้งแรกสู่สายตาคนไทย คนออสซี่ และคนทั่วโลก เมื่อการแข่งขัน World Solar Challenge 2015 ที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นการแข่งขันเทคโนโลยีและนวัตกรรมการสร้างรถพลังงานแสงอาทิตย์ของนักวิจัย วิศวกร และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีชื่อเสียงและจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก รถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-1 เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันกับประเทศต่างๆ อีก 25 ประเทศทั่วโลก โดยรถแต่ละคันต้องเดินทางจากเมืองดาร์วินทางเหนือสุดของประเทศไปถึงเมืองแอดิเลดซึ่งอยู่ทางใต้สุดของประเทศ ระยะทางรวมจากเหนือถึงใต้สุด 3,022 กิโลเมตร "แม้การแข่งขันครั้งนั้นเราจะไม่ชนะ แต่ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักศึกษาของเรา เด็กไทยเก่งและไม่แพ้ชาติใดในโลก การไปแข่งขันครั้งนั้นเด็กของเราได้ไปช่วยเหลือทีมแข่งขันของประเทศอื่นๆ จนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศในหลายๆ เรื่อง ซึ่งปีนี้เราพร้อมที่จะส่ง STC-2 เข้าประกวดถึงสองรุ่น เราเชื่อว่าจะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคณาจารย์และนักศึกษาได้เป็นอย่างดี" นอกจากการให้ความสำคัญกับงานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว STC ยังให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม ได้ตั้งโครงการ "STC Venture Capital" โดยอธิการบดี STC อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ท่านอยากเห็นคนไทยมีสินค้าในด้านนวัตกรรมทัดเทียมกับนานาประเทศ ประกอบกับเป็นการร่วมส่งเสริมนโยบายของภาครัฐในการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 "กองทุนนี้จะช่วยสร้างผู้ประกอบการทางด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เราเชื่อว่าสินค้าที่จำหน่ายได้ปัจจุบันต้องมีนวัตกรรมถึงจะแตกต่าง นักเรียนนักศึกษาหากมีแนวคิดนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ก็สามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาขอสนับสนุนได้ เพราะท่านอธิการบดีของเราอยากจะสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมรุ่นใหม่ให้กับประเทศไทย" ดร.ฐกฤต กล่าวในที่สุด
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ