องคมนตรี ติดตามงานโครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ต้นแบบตามแนวชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สุรินทร์

ข่าวทั่วไป Tuesday July 11, 2017 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--แพนดิจิตัล ซิสเต็ม วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ต้นแบบตามแนวชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร) อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยสภาพพื้นที่ป่าไม้อันเป็นต้นกำเนิดของทรัพยากรธรรมชาติทั้งแหล่งต้นน้ำลำธาร ป่าไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่าในลักษณะเกื้อกูลและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชประสงค์ให้สืบสาน รักษา และต่อยอดงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้มีความยั่งยืนสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติตลอดไป ในการนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุวัตถุประสงค์ตามประราชประสงค์ต่อไป โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ต้นแบบตามแนวชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2555 ตามที่พระพิศาล สาสนกิจ (เยื้อน ขันติโล) ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ พระราชวิสุทธิมุนี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุติ) เจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ได้มีลิขิตขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพื้นที่ป่าในเขตพุทธอุทยาน จำนวน 10,865 ไร่ เพื่อจัดทำโครงการต้นแบบในการดูแลรักษาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ พร้อมทั้งให้ชุมชน หน่วยงานเครือข่ายร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าได้อย่างยั่งยืน โครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ต้นแบบตามแนวชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านสะพาน หมู่ที่ 6 ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เดิมพื้นที่แห่งนี้ได้จัดตั้งเป็นพุทธอุทยานในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และปลูกเสริมป่าเป็นแห่งแรกของประเทศ มีแนวเขตติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน –ห้วยสำราญ สภาพพื้นโดยรอบเป็นป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณผสมป่าเต็งรัง มีความอุดมสมบูรณ์ พันธุ์ไม้เด่นได้แก่ พะยูง ตะเคียนหิน มะค่าโมง พลวง ประดู่ป่า เต็ง รัง จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการลักลอบตันไม้โดยเฉพาะไม้พะยูง และมีการเคลื่อนย้ายพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่หลายชนิด เช่น กระจง หมูป่า ค่างแว่น และนกป่าหายาก นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกินเนื่องจากราษฏร ประสบปัญหาการประกอบอาชีพ โดยชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการฯ ประกอบด้วย 3 ตำบล ได้แก่ตำบลจรัส ตำบลอาโพน และตำบลเทพรักษา รวม 25 หมู่บ้าน ปัจจุบันได้ดำเนินการด้านงานอำนวยการและบริหารงาน สำรวจ ศึกษา และจัดทำสื่อความรู้เพื่อสร้างความรู้กับประชาชนในพื้นที่และทั่วไปรวมถึงสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีสวมร่วมให้กับชุมชน เยาวชน ได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ นอกจากนี้ยังได้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยปลูกเสริมป่า ปลูกป่าแนวกันชน จัดสร้างฝายต้นน้ำลำธาร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการป้องกันและปราบปรามผู้บุกรุกตัดไม้และล่าสัตว์ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ราษฎรรวมถึงเยาวชนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจและพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษา รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างเกื้อกูลกัน นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างวัด หน่วยงานราชการ ราษฎรรวมถึงเยาวชน ตามแนวพระราชดำริ บวร ส่งผลให้การปกป้องผืนป่าแห่งนี้เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ลดปัญหาการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอบัวเชด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานโครงการไว้ ได้นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอีกครั้งและด้วยพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะได้นำมาซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และการดำเนินชีวิตของราษฎรโดยใช้ประโยชน์จากป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ