ปภ.เตือนอันตรายจากการนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์

ข่าวทั่วไป Wednesday July 12, 2017 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกัน การเสียชีวิตจากการนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์ โดยระบบเครื่องปรับอากาศในรถยนต์จะดูดควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ที่เป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาหมุนเวียน เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานาน จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากจำเป็นต้องนอนในรถ ควรหาที่จอดรถพักในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่จอดรถ ในบริเวณที่ไม่มีอากาศถ่ายเท ดับเครื่องยนต์และปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดพัดลมแอร์แทนเครื่องปรับอากาศ ลดกระจกลงทั้ง 4 ด้าน หรือด้านใดด้านหนึ่งลงเล็กน้อย ไม่นอนหลับในรถเป็นเวลานานเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การสตาร์ทเครื่องยนต์ ทิ้งไว้แล้วเปิดแอร์นอนเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์ ดังนี้ อันตรายจากการนอนหลับโดยสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบเครื่องปรับอากาศในรถยนต์จะดูดควันจากท่อไอเสียรถยนต์ที่เป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาหมุนเวียน เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ เซื่องซึม และมึนงง หายใจติดขัด หมดสติ และไม่รู้สึกตัว หัวใจเต้นผิดปกติ เพราะฮีโมโกลบินในเลือดลดลง ระบบประสาทส่วนกลางได้รับผลกระทบ หมดสติและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ข้อควรปฏิบัติเมื่อจำเป็นต้องนอนในรถ หาที่จอดรถพักในบริเวณ ที่ปลอดภัย อาทิ สถานีบริการน้ำมัน จุดพักรถริมทาง ป้อมตำรวจทางหลวง หรือบริเวณที่มีแสงไฟส่องสว่าง ไม่จอดรถ ในบริเวณที่ไม่มีอากาศถ่ายเท อาทิ ลานจอดรถชั้นใต้ดิน เพราะอากาศไม่ไหลเวียน ทำให้สูดดมควันจากท่อไอเสียเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณมาก ดับเครื่องยนต์และปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันเครื่องปรับอากาศดูดควันจากท่อไอเสียเข้ามาหมุนเวียนในห้องโดยสารทางช่องแอร์ หรือขอบยางรอยต่อกระจก เปิดพัดลมแอร์แทนเครื่องปรับอากาศ จะช่วยดูดอากาศจากภายนอก ให้เข้ามาหมุนเวียนในห้องโดยสาร ลดกระจกลงทั้ง 4 ด้าน หรือด้านใดด้านหนึ่งเล็กน้อย เพื่อระบายอากาศ และให้อากาศ ในรถหมุนเวียนได้สะดวกขึ้น ไม่นอนหลับในรถเป็นระยะเวลานานเกินไป ควรพักหลับประมาณ 30 – 40 นาที จะช่วย คลายความอ่อนล้า ทั้งนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เบากว่าอากาศ เมื่อเข้าไปสะสมในร่างกาย ทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ หากได้รับ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนอย่างฉับพลันจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ