“ชุมชนบ้านต้นเหรียง” รวมพลังป้องกันอุบัติเหตุจราจร สร้าง “กติกาชุมชน” เคารพกฎ มีวินัย ปลอดภัยทุกเส้นทาง

ข่าวทั่วไป Wednesday July 12, 2017 14:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชาวบ้านต้นเหรียง ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช หาแนวทางการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในชุมชน จัดทำโครงการ "ต้นเหรียงปลอดภัยด้วยวินัยจราจร" เพื่อสร้างตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มีวินัยจราจร และเคารพกฎจราจร สุนทร รักบำรุง ประธานชมรมคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนนบ้านต้นเหรียง กล่าว่าในพื้นที่ของชุมชนมีทางหลวงหมายเลข 401 ถนนสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช ตัดผ่าน ตลอดระยะทาง 3 กิโลเมตรมีตลาด โรงเรียน วัด และอาคารพาณิชย์ตั้งอยู่หนาแน่น แต่ไม่มีเกาะกลางถนน ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ที่ไม่คุ้นเคยเส้นทางยังคงใช้ความเร็วสูงเหมือนขับขี่อยู่นอกเขตชุมชน ขณะเดียวกันก็มีสี่แยกกลางชุมชนที่มีการจราจรหนาแน่นขวักไขว่ และมักมีรถจักรยานยนต์ขับย้อนเส้นทาง ซึ่งเป็นปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ "จากการทำเวทีประชาคมเพื่อระดมความคิดเห็น วิเคราะห์จุดเสี่ยงร่วมกันโดยสามารถสรุปสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้ 6 กลุ่ม คือ ฝ่าฝืนกฎ ประมาท ขาดจิตสำนึก ขาดทักษะ สภาพทาง และการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเกิดเป็นกติกาชุมชน งดพฤติกรรมเสี่ยง หลีกเลี่ยงถนนใหญ่ ธุระใกล้ไม่ใช้รถ ทำตามกฎ งดย้อนศร ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงจุดเสี่ยงบริเวณทางร่วมทางแยกที่มีสิ่งบดบังทัศนวิสัยการขับขี่ จัดทำป้ายห้ามขับย้อนศร ขจัดสิ่งกีดขวางบนทาง ติดสัญญาณไฟเตือน กำหนดจุดกลับรถที่ชัดเจน จัดกิจกรรมจิตวิทยาโดยนิมนต์พระมาสวดถนนต่ออายุให้กับผู้ขับขี่ สร้างจิตสำนึกให้กับผู้ใช้ทางและเพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้กับคนในชุมชน" ซึ่งหลังจากดำเนินโครงการฯ พบว่าเกิดมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้ง ซึ่งพบว่าผู้ที่ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถจากพื้นที่อื่นไม่คุ้นชินเส้นทาง แต่โดยภาพรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและจำนวนการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ของชุมชนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุของชาวบ้านต้นเหรียง นับเป็นกระบวนการทำงานที่สร้างให้สมาชิกในชุมชนตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย โดยหันมาร่วมพลังกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นต้นแบบในการพึ่งพาตนเองให้กับชุมชนอื่นๆ ได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ภาครัฐยืนมือเข้ามาช่วยทุกครั้งแต่อย่างใด.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ