รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานการปฏิบัติกับกองทัพบก-หน่วยทหาร-ฝ่ายพลเรือน-จังหวัดนครราชสีมา จัดการฝึก IDMEx 2017 เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม

ข่าวทั่วไป Thursday July 13, 2017 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานการปฏิบัติกับกองทัพบก หน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน จังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.๒๕๖๐ (IDMEx 2017) ตามข้อสั่งการเชิงนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการรองรับสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานตรวจเยี่ยมและรับชมการฝึกสาธิตการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.๒๕๖๐ในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ ๒จังหวัดนครราชสีมา โดยมีคณะทูตานุทูต ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนเหล่าทัพ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับชมการฝึกสาธิตฯ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ทำให้ทุกภาคส่วนสามารถจัดการภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการเตรียมความพร้อมและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นระบบ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๙ ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใช้อากาศยานในการอพยพประชาชน การวางระบบเครือข่ายการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ร่วมกับกองทัพบก หน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน จังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.๒๕๖๐ ตามข้อสั่งการเชิงนโยบายของฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในช่วงวันที่ ๓๐ มิถุนายน – ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ ๒ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน ๑๒๗ หน่วย รวม ๓,๗๐๑ คน เพื่อซักซ้อมการบัญชาการเหตุการณ์ร่วม และวางแผนบูรณาการ สนธิกำลังพลเครื่องมือ และทรัพยากรในการจัดการภาวะฉุกเฉินให้มีเอกภาพภายใต้ระบบการสั่งการเดียวกัน นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.๒๕๖๐ ถือเป็นการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๘ และเป็นการขับเคลื่อนกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่มุ่งลดความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศและชุมชนมีขีดความสามารถในการรู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติภายใต้ระบบการสั่งการเดียวกัน และนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการสาธารณภัยที่ครอบคลุมทุกมิติ ก่อให้เกิดมาตรฐานในการจัดการภาวะฉุกเฉินที่เป็นระบบและมีเอกภาพ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้สร้างสถานีฝึกเผชิญเหตุและอาคารถล่มที่มีรูปแบบถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งได้ส่งมอบให้จังหวัดนครราชสีมานำไปใช้ในการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำหรับการฝึก IDMEx 2017 ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งนอกจากเป็นการพัฒนาทีมปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศไทย (Thailand Disaster Relief Team) ให้มีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับสาธารณภัยทุกระดับและทุกประเภทภัยแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยมีกลไกการจัดการสาธารณภัยที่เป็นระบบตามมาตรฐานสากล นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.๒๕๖๐เป็นการบูรณาการความร่วมมือแลประสานการปฏิบัติระหว่างกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับกองทัพบก หน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน จังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด ๖.๗ แมกนิจูด จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณรอยเลื่อนลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้อาคารสูงในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียงถล่ม สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง จำเป็นต้องยกระดับเป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ ๓) พร้อมจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลัง และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย แบ่งการฝึกเป็น ๖ สถานี ดังนี้ ๑.สถานีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลัง และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ๒.สถานีการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นการฝึกการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอาคารสูงและในที่อับอากาศ การจัดการสารเคมีรั่วไหลในอาคาร ๓.สถานีการปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในเบื้องต้นและนำส่งสถานพยาบาล ๔.สถานีศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อวางแนวทางการบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว ๕.สถานีการปฏิบัติการทางอากาศ เพื่อเป็นการปฏิบัติการทางอากาศในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ๖.สถานีการจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อแสดงศักยภาพทรัพยากรของหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ซึ่งการฝึกฯ ในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการวางกลไกการเผชิญเหตุและจัดการในภาวะฉุกเฉินให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดกลาง (Medium USAR Teams) ให้สามารถปฏิบัติการเผชิญเหตุตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ (INSARAG) ทำให้ประเทศไทยมีกลไกการจัดการสาธารณภัยที่มีเอกภาพตามมาตรฐานสากล ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ