นักวิจัย มธ. คิดค้น “ทียู สมาร์ท ไบค์ มิเตอร์ ”ระบบคิดค่าโดยสาร ป้องกันอุบัติเหตุ อาชญากรรม ในสำหรับ จักรยานยนต์รับจ้างครั้งแรกของไทย!!

ข่าวยานยนต์ Thursday July 13, 2017 17:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรม "ทียู สมาร์ท ไบค์ มิเตอร์"นวัตกรรม คำนวณค่าโดยสาร ระบบติดตาม และตรวจจับลักษณะการขับขี่เพื่อแจ้งเตือนการเกิดอุบัติเหตุสำหรับจักรยานยนต์รับจ้าง โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีการทำงานเพียง ผู้โดยสารที่มีมือถือก็แตะเครื่องกับ NFC หรือ Scan QR Code ติดอยู่ด้านหลังเสื้อวิน จะแสดงข้อมูลโทรศัพท์มือถือผ่านเว็บบราวเซอร์ ทั้งชื่อ อายุ หมายเลขวิน เขตการให้บริการของวินนั้นๆ และตำแหน่งเส้นทางการขับขี่ ราคาค่าโดยสาร นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ มิเตอร์ซึ่งจะติดอยู่ด้านแฮนด์ขวาของผู้ขับขี่ ซึ่งจะแสดงค่าโดยสาร และตรวจจับการเกิดอุบัติเหตุแบบอัตโนมัติ เพื่อส่งไปยังศูนย์ช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวจะทดลองใช้ในปีการศึกษา 2560 และคาดว่าจะนำมาใช้อย่างเป็นทางการได้ในช่วงต้นปี 2561 และคาดว่าจะนำไปทดลองในพื้นที่อื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนนำไปใช้กับวินมอเตอร์ไซค์ทั่วไป นอกมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ปัญหาการคิดค่าโดยสารอย่างเป็นธรรมแก้ผู้ใช้บริการร่วมถึงการป้องกันปัญหาด้านอาชญากรรมและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์www.tu.ac.th ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าโครงการในฐานะอาจารย์ภาควิชาวิศวกรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าทีมวิจัยทั้งอาจารย์และนักศึกษา ได้ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรม "TU-SMART BIKE METER" หรือ นวัตกรรมระบบติดตามและการคิดคำนวณค่าโดยสารและติดตามพฤติกรรมการขับขี่แบบมาตรฐานสำหรับจักรยานยนต์รับจ้างสำหรับประเทศไทยขึ้น โดยยึดหลักการ "เป็นธรรม โปร่งใส ปลอดภัย" โดยสร้างเป็นไอทีแพลตฟอร์มขึ้นตามนโยบาย Thailand 4.0 และเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยด้วย แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นนี้จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลตามฐานเวลาปัจจุบันและถูกเก็บไว้ในที่ปลอดภัย วิธีการใช้งานก็ง่ายมาก ผู้โดยสารที่มีมือถือก็แตะเครื่องกับ NFC หรือ Scan QR Code ติดอยู่ด้านหลังเสื้อวิน และจะส่งผ่านข้อมูล ทั้งชื่อ อายุ หมายเลขวิน เขตการให้บริการของวินนั้นๆ และตำแหน่งเส้นทางการขับขี่ ราคาค่าโดยสาร ปรากฏในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการผ่านเว็บบราวเซอร์ซึ่งก็สามารถดูได้จากคอมพิวเตอร์ทั่วไปตามฐานเวลาจริง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ส่วนที่ 2 คือมิเตอร์ซึ่งจะติดอยู่ด้านแฮนด์ขวาของผู้ขับขี่ ซึ่งจะแสดงค่าโดยสารและจะคำนวณจากปัจจัยหลัก 3 ด้านคือราคาที่แปรผันตามระยะทาง เขตพื้นที่การให้บริการ และ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเดินทางเช่น ปริมาณความหนาแน่นของรถ โดยอ้างอิงเวลาตามจริงและสามารถส่งต่อให้กับคนที่ใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังในยามวิกาลซึ่งจะช่วยลดปัญหาการก่ออาชญากรรมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งอุปกรณ์ยังสามารถตรวจสอบการเกิดอุบัติเหตุแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะปรากฏหน้าจอแสดงให้เห็นถึงการตรวจเจอการเกิดอุบัติเหตุเช่นกรณีเกิดการกระแทกหรือชนหากผู้ขับขี่ไม่กดยืนยันตนเองภายใน 10 วินาที ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุจะทำการส่งไปยังศูนย์ช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ส่วนอนาคตจะพัฒนาให้สามารถใช้ได้ในรูปแบบแอปพลิเคชั่น ที่ใช้ชื่อว่า Motorbike meter Apps ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวจะทดลองใช้ในปีการศึกษา 2560 และคาดว่าจะนำมาใช้อย่างเป็นทางการได้ในช่วงต้นปี 2561 และเพื่อให้เกิดการต่อยอดสู่การใช้งานจริงในสังคมจะขยายความร่วมมือการทดสอบไปไปยังสถานที่อื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนนำไปใช้กับวินมอเตอร์ไซค์ทั่วไป และในอนาคต ยังสามารถปรับปรุงให้ใช้กับธุรกิจโลจิสติกและโซ่อุปทานต่าง ๆ ได้ ความซับซ้อนของงานวิจัยนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องนวัตกรรมเท่านั้น ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมการให้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่เรียกว่า "ระบบวิน" ซึ่งเราคำนึงถึงวัฒนธรรมนี้ในการดำเนินการซึ่งจะต้องสามารถประสานผลประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใสในกรณีที่มีมีกรให้บริการวินมอเตอร์ไซด์ข้ามเขตพื้นที่ ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ณ กรุงเจนีวา ครั้งที่ 45 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และส่วนหนึ่งของนวัตกรรมชิ้นนี้ยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานจากสำนักงานกองทุนสนังสนุนงานวิจัย (สกว.) อีกด้วย ผศ.ดร.นพพร กล่าวสรุป ด้าน รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย หรือ UI Greenmetric World University Ranking ตั้งแต่ปี 2556 โดยมุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยมีความตระหนัก ให้ความสำคัญ และร่วมดำเนินการ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ประเด็นดังกล่าวยังรวมถึงการจัดการระบบขนส่งของมหาวิทยาลัย เนื่องจากการจราจรที่คับคั่งจะนำมาซึ่งการเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของศูนย์รังสิตในภาพรวม นอกเหนือจากการใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ศูนย์รังสิตได้ดำเนินการจัดสร้างสถานีขนส่ง และอาคารจอดรถที่เพียงพอในบริเวณที่เหมาะสมให้กับผู้มาติดต่อ สำหรับบุคลากรและนักศึกษา ศูนย์รังสิตจะสนับสนุนให้ลดการนำรถยนต์มายังมหาวิทยาลัย และให้ใช้รถจักรยานแทน มีการจัดทำที่จอดสำหรับจักรยานเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาใช้จักรยานเพื่อสุขภาพและเป็นการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งการประหยัดพลังงาน ทรัพยากร และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ได้ใช้ประโยชน์และพัฒนานวัตกรรมในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด อาทิเช่น การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร การประดิษฐ์ชุดควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ นวัตกรรมทีมอฟ (TMOFs) ฯลฯ ในส่วนของ ผศ.ดร.ชนัญ ผลประไพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาบุคลากรและประชาชนผู้มาติดต่อ โดยเฉพาะด้านขนส่งเนื่องจากปัจจุบัน มธ. มีการจราจรที่คับคั่งเพราะในหนึ่งวันมีรถเข้า-ออก ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา บุคลากร รวมถึงผู้มาติดต่อ แต่ไม่ใช่เพียงการลดปัญหาการจราจรที่แออัดเท่านั้น แต่ทางมหาวิทยาลัยยังเน้นการประหยัดพลังงาน โดยการนำรถ NGV ,รถไฟฟ้าที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาปรับใช้เพื่อลดการปล่อยมลภาวะและประหยัดพลังงาน ในขณะเดียวกันในอนาคตจะได้นำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนมาปรับใช้ในวินมอเตอร์ไซค์ภายในมหาวิทยาลัยด้วย และภายในปี 2564 ระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง บางซื่อ -รังสิต จะแล้วเสร็จซึ่งจะเป็นระบบขนส่งที่ผ่านมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมีแนวคิดในการเตรียมการเพื่อจัดทำรถไฟฟ้าโมโนเรลโดยรอบมหาวิทยาลัยในลักษณะเป็นวงกลม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ร่วมกับระบบขนส่งต่างๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต่อไป สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์www.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ