กสอ. ชี้ปี 60 ธุรกิจสตาร์ทอัพยังฮอต คาดมีรายใหม่กว่า 800 ราย พร้อมแนะ 5 กฎเหล็กที่มือใหม่ต้องรู้ ก่อนก้าวสู่สตาร์ทอัพสุดว้าว

ข่าวทั่วไป Friday July 14, 2017 11:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ชี้การดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มมองหาสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นและความแปลกใหม่ในสินค้าและการบริการมากขึ้น ทั้งนี้ จากการส่งเสริมด้วยกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ในปี 2559 ที่ผ่านมาสามารถสร้างผู้ดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพได้ถึง 590 รายโดยในปี 2560 ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างกลุ่มเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยมาตรการการสนับสนุนด้านระบบนิเวศ การจัดกิจกรรมสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ การเติมเต็มไอเดียสู่การวางแผนธุรกิจให้น่าสนใจและเกิดขึ้นจริงได้ ตลอดจนการเขียนแผนธุรกิจและการเงิน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าตามเป้าหมาย ซึ่งได้ตั้งเป้าให้เกิดผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ไม่ต่ำกว่า 800 ราย หรือเพิ่มขึ้น36 % ทั้งนี้ ยังได้แนะกลยุทธ์เพื่อก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ 5 ข้อที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ 1. ทำสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นหรือพัฒนาแล้วแต่ยังไม่ตอบโจทย์ 2. แก้ไขปัญหาได้ตรงใจผู้บริโภค 3. ต่อยอดจากธุรกิจเดิมและเติมประโยชน์เพิ่มรองรับความต้องการใหม่ 4. ใช้เทคโนโลยีหรือระบบออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ และ 5. มีความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ แนวความคิดการทำธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังได้รับความนิยมจากบรรดาผู้ที่มีไอเดีย กล้าคิด กล้าฝัน และมีความต้องการที่จะผันตัวเป็นผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและถือเป็นสัญญาณที่ต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเกิดขึ้นของกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังผันแปรและต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพในประเทศไทยโดยรวมแล้วนับว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มสร้าง ระดับกำลังเติบโต และระดับที่สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ในภาพรวมก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงพัฒนาความพร้อมทั้งในด้านระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการคิดค้นและประกอบธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพใหม่ ๆการพัฒนาไอเดียที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ การนำเสนอแผนงานเพื่อการสนับสนุนการร่วมทุน ตลอดจนการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในยุคที่ระบบดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งและเข้ามาเป็นปัจจัยที่ 5 อย่างที่ปฏิเสธไมได้ ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในปี 2560 และในอนาคตการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจในการลงทุนอย่างสูง ซึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มมองหาสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นและความแปลกใหม่ในสินค้าและการบริการมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ (สตาร์ทอัพด้านระบบเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์) ที่คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยขณะนี้หลากหลายธุรกิจ อุตสาหกรรมและผู้บริโภคได้เริ่มมีทั้งการปรับตัว วิธีในการดำเนินงาน และวิถีการดำเนินชีวิตให้เข้ากับระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจดังกล่าวอาจมีมูลค่าราว 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท (ที่มา : รายงานระหว่างกูเกิลและเทมาเซ็กเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย) ยิ่งไปกว่านั้น มีความเป็นไปได้สูงอีกว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ตลาดดิจิทัลจะทวีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บริการแอปพลิเคชัน ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ตลอดจนแพลตฟอร์มและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทในพฤติกรรมการดำเนินชีวิตจนเป็นปัจจัยที่ 5 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับในปี 2560 นี้ กสอ.ก็ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างกลุ่มเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มเติมทั้งกิจกรรมและโครงการการสนับสนุนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยระบบดิจิทัลอย่างเข้มข้น ทั้งด้วยมาตรการการสนับสนุนด้านระบบนิเวศ (Co-Working Space) ที่เหมาะสมต่อการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ การจัดกิจกรรมสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ การเติมเต็มไอเดียสู่การวางแผนธุรกิจให้น่าสนใจและเกิดขึ้นจริงได้ ตลอดจนการเขียนแผนธุรกิจและการเงินเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าตามเป้าหมาย ทั้งนี้ จากโครงการและกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมในปี 2559 ที่ผ่านมาสามารถสร้างผู้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบสตาร์ทอัพได้ถึง 590 ราย (ที่มา: สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) โดยในปี 2560 ยังได้ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวนี้อีกไม่ต่ำกว่า 800 ราย หรือเพิ่มขึ้น 36 % ซึ่งคาดหวังให้มีกลุ่มสตาร์ทอัพที่ครอบคลุมหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพกลุ่มสาธารณสุขและเทคโนโลยีการแพทย์ กลุ่มหุ่นยนต์อัจฉริยะและระบบเครื่องกล กลุ่มเทคโนโลยีพลังงาน ตลอดจนกลุ่มดิจิทัล และระบบอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อ อย่างไรก็ดี กสอ.ยังได้รวบรวมกลยุทธ์ที่สำคัญในการก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ 5 ข้อ สำหรับผู้ที่มีเป้าหมาย มีความคิดสร้างสรรค์ และความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ดังนี้ 1. ต้องทำสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นหรือพัฒนาแล้วแต่ยังไม่ตอบโจทย์ สำหรับกลยุทธ์ดังกล่าวนี้จะเป็นการเปลี่ยนทัศนคติหรือวิถีการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการจะต้องสร้างสินค้าหรือการบริการที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้และเกิดความรู้สึกประทับใจ ต่อยอดไปจนถึงการทำให้รู้สึกว่าสินค้าและการบริการนั้น ๆมีความจำเป็นจนกระทั่งเกิดความจงรักภักดีและขาดบริการหรือสินค้าเหล่านั้นไม่ได้ อาทิ บริการช่องทางการเงินระบบออนไลน์ บริการจองรถรับส่ง เป็นต้น 2. ต้องสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงใจผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคกลายเป็นผู้มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจซื้อหรือที่เรียกกันว่า Empowered Customer กลยุทธ์ในข้อดังกล่าวนี้จึงต้องผลิตสินค้าหรือบริการมาเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น ตอบสนองได้ทันทีทันใด ซึ่งกลยุทธ์ในข้อนี้มักเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นในด้านแฟชั่น ความงาม สุขภาพ อาหาร ท่องเที่ยว ฯลฯ โดยมีตัวอย่าง อาทิ บริการแนะนำร้านอาหาร บริการช็อปปิ้งออนไลน์ 3. ต้องต่อยอดจากธุรกิจเดิมและเติมประโยชน์รองรับความต้องการใหม่ ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่สตาร์ทอัพต้องมีและต่างจากธุรกิจแบบเดิม ๆ คือการอาศัยโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาต่อยอดหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจที่เคยมีอยู่ ทั้งยังต้องเพิ่มประโยชน์หรือคุณค่าใหม่ ๆ เสริมให้กับสินค้าหรือการบริการเก่า ๆ โดยกลยุทธ์ในข้อนี้ต้องสามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกคุ้มค่าหรือเห็นด้วยกับการต้องเพิ่มค่าบริการที่มากขึ้น อาทิ บริการอาหารเดลิเวอรี่ บริการจองที่พักออนไลน์ 4. ต้องใช้เทคโนโลยีหรือระบบออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ เทคโนโลยีถือเป็นต้นทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเสียเงินน้อยที่สุด ทั้งยังแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความสะดวก เห็นภาพลักษณ์ที่ดีและความทันสมัยของธุรกิจ ช่วยทำให้วิธีการทำงานเดิมมีความหลากหลายๆ และง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ปัจจุบันการสื่อสารผ่านโลกโซเชียลถือเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลากหลายที่สตาร์ทอัพเลือกใช้เนื่องจากแทบไม่ต้องลงทุนใด ๆ โดยสามารถอาศัยทั้งจากระบบสังคมออนไลน์ที่มีอยู่ รวมทั้งการพัฒนาให้เกิดขึ้นใหม่ อาทิ การเพิ่มฐานผู้บริโภคผ่าน เฟสบุ๊คแฟนเพจ ระบบซื้อขาย-โฆษณาผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เป็นต้น 5. ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร ซึ่งสำหรับกลยุทธ์ข้อดังกล่าวนี้ ถือได้ว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ เนื่องจากการที่ผู้บริโภคมองหาความแปลกใหม่อย่างไม่จำกัดถือเป็นช่องทางให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ขึ้นมาได้อย่างไม่รู้จบ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความแปลกใหม่นั้นจะมีอยู่อย่างมากมายจนอาจนับไม่ถ้วน ผู้ที่จะก้าวเป็นสตาร์ทอัพก็ต้องสร้างสินค้าหรือบริการที่สามารถดำเนินได้ในระยะยาว ต้องไม่เป็นธุรกิจที่ดำเนินขึ้นอย่างฉาบฉวย สามารถเพิ่มความแปลกใหม่และกิจกรรมส่งเสริมการขายเข้ามาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้เรื่อย ๆ อาทิ บริการแอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยวครบวงจร บริการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการพนักงานขับรถ เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4570-4 หรือ เข้าไปที่ http://nec.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ