ฝนหลวงฯ จับมือ กองทัพบก ปั้นเมล็ดพันธุ์พืชเตรียมพร้อมปฏิบัติการเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday July 14, 2017 13:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมามณฑลทหารบกที่ 31 จังหวัดนครสวรรค์ และมณฑลทหารบกที่ 15 จังหวัดเพชรบุรี บูรณาการความร่วมมือปั้นเมล็ดพันธุ์พืชเตรียมปฏิบัติภารกิจเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานรัชกาลที่ 9 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการปั้นเมล็ดพันธุ์พืช ณ มณฑลทหารบกที่ 31 ค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมกล่าวว่า ตามที่ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำและเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า โดยได้มีการเตรียมความพร้อมการปั้น เมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา มณฑลทหารบกที่ 31 จังหวัดนครสวรรค์ และมณฑลทหารบกที่ 15 จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับใช้โปรยในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีชนิดเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้ในโครงการและพื้นที่เป้าหมายการโปรยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ดังนี้ - ภาคกลาง โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ กัลปพฤกษ์ กาฬพฤกษ์ ขี้เหล็ก แดง พฤกษ์ มะค่าแต้ ราชพฤกษ์ (คูน) สาธร (กระเจาะ) สีเสียด (สีเสียดแก่น) และอะราง (นนทรีป่า) โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไผ่รวกและพะยูง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา - ภาคใต้ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ประดู่ (ตีปีก) และมะค่าโมง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดนครราชสีมา นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "9 วัน สู่วัน มหามงคล 65 วัน สืบสานพระราชปณิธาน" โดยการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศในพื้นที่แหล่งต้นน้ำบริเวณพื้นที่เดินเท้าเข้าถึงยากหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ได้ ทั้งนี้ มีหน่วยงานร่วมรับผิดชอบดำเนินการ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา มณฑลทหารบกที่ 15 จ.เพชรบุรี และมณฑลทหารบกที่ 31 จังหวัดนครสวรรค์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมชลประทาน กรมการปกครอง และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเกษตรกร อาสาสมัครฝนหลวง และประชาชนทั่วไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ