มทร.ธัญบุรี พัฒนาระบบต้นแบบเพื่อการดูทีวี ถนอมสายตา - เพิ่มอรรถรสการชม แม้ปิดไฟ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 18, 2017 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--มทร.ธัญบุรี ความอ่อนล้าทางสายตา ตาแห้ง หรือปวดตา เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำงานจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอมือถือ หรือแม้แต่การดูทีวี และหากปิดไฟด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้เกิดการเพ่งสายตาที่หน้าจอ ม่านตาขยายใหญ่กว่าปกติ เกิดความดันในลูกตา อาจทำให้เกิดความเครียดและเสี่ยงต่อโรคทางตา เช่น ตาเสื่อมหรือบอดได้ ปัจจุบันมีงานวิจัยผลกระทบของความสว่างโดยรอบของภาพที่ทำให้เกิดความเมื่อยล้าและความเครียดของตาในขณะที่ดูทีวี จึงมีทีวีระบบ Ambient light ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อความบันเทิงในการรับชม ซึ่งระบบ Ambient light ช่วยถนอมสายตาเวลาปิดไฟดู โดยใช้ไฟ LED ด้านหลังจอ เป็นแสงที่สะท้อนไปยังพื้นที่ด้านหลัง กำแพงหรือผนังห้องด้านหลังของทีวี ซึ่งแสงนั้นจะใช้ตำแหน่งและสีที่สอดคล้องกับภาพที่แสดงบนหน้าจอทีวี จึงทำให้รู้สึกว่าสีของภาพที่แสดงนั้นขยายออกไปยังพื้นที่ด้านหลังด้วย การชมทีวีในระบบ Ambient light จะใช้แสงสว่างรอบนอกหรือภายในห้องน้อยมาก จึงช่วยถนอมสายตาขณะปิดไฟเวลารับชม เนื่องจากไฟ Ambient light จะช่วยให้กำแพงด้านหลังสว่างขึ้นเล็กน้อย เพื่อที่ดวงตาจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความต่างที่มากเกินไประหว่างแสงจอทีวีและความมืดด้านหลังจอ ทั้งยังช่วยให้ม่านตาไม่ต้องทำงานในลักษณะเปิดปิดที่เร็วเกินไป เมื่อเราละสายตาจากทีวีแล้วเลื่อนไปยังกำแพง นายธนกร สุธรรม และ น.ส.มัณฑนา จิตวิขาม นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากผลงานวิจัยผลกระทบของความสว่างโดยรอบของภาพที่ทำให้เกิดความเมื่อยล้าและความเครียดของดวงตาในขณะที่ดูทีวีของPhilips ที่ได้คิดค้นระบบทีวีแบบถนอมสายตา จนนำมาสู่การออกแบบและสร้างระบบให้แสงสว่างโดยรอบสำหรับติดตั้งกับทีวีด้วยหลอด TRI-COLOR LED ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณสีของภาพที่มุมจอทีวีที่แสดงทั้งสี่ด้าน และสั่งงานให้ TRI-COLOR LED แสดงสีของแสงได้ใกล้เคียงกันกับภาพที่ออกมาจากจอทีวี ซึ่งทีวีจะแสดงสีออกมาที่ด้านหลังของจอ ทำให้เกิดความสว่างขึ้นที่กำแพงและทำให้ดวงตาไม่รู้สึกว่าแสงจากจอทีวีสว่างมากเกินไป ซึ่งมี นายบุญฤทธิ์ คุ้มเขต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา ธนกร เล่าว่า ระบบให้แสงสว่างโดยรอบบนจอทีวีโดยใช้แอลอีดีชนิดสามสี ใช้โปรแกรม Bambilight เป็นตัวตรวจจับภาพและแสงสีจากหน้าจอทีวี โดยใช้โปรแกรม Arduino ออกแบบและสร้างระบบให้แสงสว่างโดยรอบสำหรับติดตั้งกับทีวีด้วย TRI-COLORLED และใช้รูปแบบการประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ในการแสดงผลภาพออกมาซึ่งได้ทำการทดสอบการแสดงสีเพื่อให้ความสว่างขณะดูทีวีหลังจากที่ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว พบว่าระบบสามารถส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ไปยังบอร์ด Arduino ได้และสั่งการให้หลอด LED WS2811 strip แสดงสีได้ตามที่ต้องการ ส่วนการทดสอบในระบบ Bambilight เมื่อทำการตรวจจับสีตามช่วงที่กำหนดไว้สามารถจับสีได้ และสามารถควบคุมการตรวจจับสีของภาพที่มุมจอโทรทัศน์ที่แสดงทั้งสี่ด้านได้ ด้าน มัณฑนา เล่าว่า การออกแบบระบบให้แสงสว่างโดยรอบบนจอทีวีโดยใช้แอลอีดีชนิดสามสีครั้งนี้ ทำให้เข้าใจหลักการทำงานของไมโครคอนโทรเลอร์ หลักการทำงานในการตรวจจับสีของภาพบนหน้าจอโทรทัศน์ และสามารถนำความรู้ไปพัฒนาการดูทีวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยถนอมสายตาและเพิ่มอรรถรสการรับชม ผู้สนใจหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อไปที่ อ.บุญฤทธิ์ โทร.098-9985619

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ