ก.วิทย์ ผนึก กองทัพอากาศ และองค์การอวกาศญี่ปุ่น เปิดตัวการแข่งขัน “CanSat – ดาวเทียมกระป๋อง” ครั้งแรกของไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 19, 2017 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--อพวช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)ร่วมกับโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ในสังกัดกองทัพอากาศ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพอากาศ และองค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAXA) แถลงข่าวเปิดตัวการแข่งขัน "CanSat Thailand 2017" หรือ "ดาวเทียมกระป๋อง" ครั้งแรกของประเทศไทย หวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า CanSat หรือ "ดาวเทียมกระป๋อง" เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จำลองการทำงานของดาวเทียมที่มีขนาดเล็กเท่ากระป๋องน้ำอัดลม เป็นโครงการอวกาศขนาดเล็กที่มุ่งเน้นการปฎิบัติจริง เพื่อใช้ในการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านอวกาศ โดย CanSat จะถูกปล่อยจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เครื่องบิน จรวด หรือบอลลูน ในระหว่างที่กางร่มชูชีพร่อนลงมา CanSat จะปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่กำหนดไว้ ก่อนที่จะตกถึงพื้นดิน ซึ่ง CanSat จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในหลายด้าน เช่น การออกแบบดาวเทียม การกำหนดภารกิจ การสร้างและประกอบดาวเทียม การทดสอบ การเตรียมตัวปล่อยขึ้นสู่อวกาศ และการวิเคราะห์ปัญหา เป็นต้น ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า CanSat หรือ "ดาวเทียมกระป๋อง" เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีดาวเทียมได้โดยง่าย โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่มีภารกิจด้านการสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับประเทศ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ที่มีภารกิจในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนร่วมมือกับโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ในสังกัดกองทัพอากาศ และศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพอากาศ รวมไปถึงองค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAXA) หน่วยงานสำคัญระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น เพื่อผนึกกำลังกันสร้างให้กิจกรรมนี้มีความยิ่งใหญ่ และดึงดูดให้เยาวชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ CanSat ยังถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่อธิบายการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาได้อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นต้องบูรณาการความรู้ทั้ง 4 ศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) มาใช้ในการประดิษฐ์และแก้ปัญหาโดยไม่แยกส่วนหรือแยกศาสตร์ เป็นการเรียนรู้แบบไม่เน้นท่องจำทฤษฎีหรือกฎทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฏเหล่านั้นผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหา หาข้อมูล วิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ ๆ ด้วยตนเอง และยังสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น ๆ ทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์ เพื่อนำไปใช้หรือบูรณาการกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งนำไปพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานได้ "กล่าวได้ว่า กิจกรรม CanSat เป็นหนึ่งในแผนงานการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการจุดประกายความสนใจและสร้างแรงบันดาลใจด้วยกิจกรรมการแข่งขันที่สนุกสนาน พร้อมกับการได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านอวกาศและดาวเทียม เพื่อนำไปสู่ความต้องการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไปหรือเกิดการนำไปพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป" รมว.วท. กล่าวในที่สุด Mr. Masanobu TSUJI Director of JAXA Bangkok Office กล่าวว่า องค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAXA) มีการประชุมเครือข่ายองค์กรเทคโนโลยีทางอวกาศเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Space Agency Forum) APRSAF เป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการด้านอวกาศและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านกิจกรรมอวกาศของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งในการประชุมนั้นจะมีการจัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนเพื่อปลูกฝังความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศ เช่น การแข่งขันจรวดขวดน้ำนานาชาติ APRSAF ซึ่งมี อพวช. เป็นผู้รับผิดชอบคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน และกิจกรรมการประกวดภาพด้านอวกาศ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สทอภ. ในการคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมในระดับนานาชาติ ในส่วนของกิจกรรมการแข่งขัน CanSat นั้น APRSAF เริ่มต้นจัดให้มีการแข่งขันเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา ซึ่งหากกลุ่ม APRSAF จะมีการจัดการแข่งขันในอนาคตขึ้นอีกครั้ง เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการส่งเยาวชนเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไปอย่างแน่นอน ด้าน พลอากาศเอก จอม ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 2 หน่วยงานของกองทัพอากาศ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) และโรงเรียนในเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางอากาศ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากการจัดอบรมให้กับเยาวชนโรงเรียนเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่และโล่งเหมาะสมในการจัดแข่งขันอีกด้วย การแข่งขัน "CanSat Thailand 2017" เปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมแข่งขัน ตั้งแต่วันนี้ - 15 กรกฎาคม 2560 โดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารอบจำนวน 5 ทีม เพื่อเข้าอบรมพัฒนาฝีมือเพิ่มเติม ณ อพวช. ตำบลคลองห้า จังหวัดปทุมธานี ก่อนจะทำการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2560 ที่ โรงเรียน นายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ต่อไป ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม Website : www.nsm.or.th, www.nstda.or.th/cansat และ Facebook : Thai Space Education โทร 0 2577 9999 ต่อ 1411-1416

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ