“ดีป้า” ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ดันดิจิทัลยกระดับความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวทางทะเล

ข่าวเทคโนโลยี Monday August 7, 2017 12:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าจังหวัดภูเก็ต หรือที่ได้ชื่อว่าเป็น "ไข่มุกแห่งอันดามัน" คือ สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ที่มีชื่อเสี่ยงไปทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวนิยมชมชอบมากที่สุดในภาคใต้ ด้วยความงามทางทัศนียภาพทางทะเล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่อย่างไรก็ตามปัญหาในเรื่องของความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว ยังเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายยังคงตั้งคำถาม เรื่องนี้ทางนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการเป็นประธานจัดประชุมความปลอดภัยของเรือและท่าเทียบเรือโดยสาร ครั้งที่ 1/2560 พร้อมด้วยนายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต, นายประชา อัศวธีระ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สาขาภาคใต้ตอนบน, หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการท่าเรือต่างเข้าร่วม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันพบว่าจังหวัดภูเก็ตมีผู้โดยสารทางทะเลประมาณ 20,000 คนต่อวัน ซึ่งจากตัวเลขนี้เป็นปริมาณที่ค่อนข้างมากในการดูแลความปลอดภัยให้ครอบคลุมในทุกภาคส่วน เรื่องนี้นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึงที่มาของการประชุมในครั้งนี้ว่าทุกภาคส่วนระหว่างจังหวัด ทั้งผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ รวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว นั้นต้องตื่นตัวและเร่งดำเนินการหารือ เพื่อหาทางออกในการประสานข้อมูลซึ่งกันและกัน ในการยกระดับความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวทางทะเล จึงเห็นว่าควรมีระบบการแจ้งเตือนหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในแต่ละที่ เพื่อให้หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสามารถเข้าถึงข้อมูลของเรือที่ออกจากท่า รวมไปถึงข้อมูลเฉพาะของนักท่องเที่ยว ในการให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา นายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต เล่าว่า มาตรการในการรับประกันความปลอดภัยให้กับผู้ที่ใช้เรือโดยสาร มีองค์ประกอบของการสัญจรทางน้ำอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน โดยในส่วนของตัวเรือนั้นผู้ประกอบการจะต้องตรวจสภาพเรือพร้อมกับต่อใบอนุญาตใช้เรือเป็นประจำทุกปี ความมั่นคงแข็งแรงของตัวเรือ อุปกรณ์ประจำเรือ อุปกรณ์การช่วยชีวิต โดยมีกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือเป็นการเฉพาะ ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตได้มีประกาศให้เรือต่างประเทศติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติ (Automatic Identification System)หรือ AIS โดยมีข้อมูลเรือติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีตัวรับสัญญาณติดตั้งอยู่ 23 สถานีชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งอุปกรณ์นี้จะทำการส่งสัญญาณอยู่ตลอดเวลา "ทางเราได้มีการขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการท่าเรือ ให้ทำการตรวจสอบว่ามีใบอนุญาตให้สร้างและใช้ท่าเทียบเรือหรือไม่ หากยังไม่มี จะต้องยื่นคำร้องและแสดงการครอบครอบสิทธ์ต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ภายในวันที่ 1 กันยายนนี้ ส่วนของผู้ควบคุมเรือ เราจัดให้มีการสอบประกาศนียบัตรของผู้ควบคุมเรือหรือผู้ควบคุมเครื่องจักร หากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ควบคุมเรือลำใด ไม่มีประกาศนียบัตรหรือมีประกาศนียบัตรไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนด ทางสำนักงานเจ้าท่าจะดำเนินคดีขั้นสูงสุด" นายสุรัฐ เสริม ด้านนายประชา อัศวธีระ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สาขาภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มีระบบที่สามารถรู้ตำแหน่งเรือที่อยู่ในฝั่งอันดามันในแต่ละลำ และสามารถมองเห็นเรือที่วิ่งอยู่ในอันดามันได้ทั้งหมด แต่ยังไม่สามารถทราบข้อมูลเฉพาะของผู้โดยสารบนเรือในแต่ละลำ จึงได้นำเสนอการใช้ระบบดูแลความปลอดภัยทางทะเล (Maritime Safety) กับท่าเทียบเรือรับส่งคนโดยสารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยแบ่งเป็น 2 ระบบ ประกอบด้วย 1) ระบบฐานข้อมูลกลางผู้โดยสารทางทะเล เป็นการนำระบบ Vessel Tracking Monitoring System หรือ VTMS มาประยุกต์ใช้ ทำให้เราสามารถมองเห็นเรือทุกลำ ในอันดามัน เช่น พิกัดตั้งแต่ระนองถึงตรัง หรือออกจากภูเก็ตไปถึงพังงา ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลกลางที่ช่วยตอบโจทย์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ได้พิจารณาร่วมกันในการรวบรวมข้อมูลของนักท่องเที่ยว ที่จะออกจากท่าเทียบเรือในแต่ละวัน เพื่อให้จังหวัดมีระบบฐานข้อมูลกลาง หรือระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์กลางในการยืนยันข้อมูลตัวบุคคล ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเรือแต่ละลำมีจำนวนนักท่องเที่ยวกี่คน รวมทั้งยังช่วยให้พนักงานประจำเรือหรือไกด์ สามารถตรวจสอบจำนวน ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน รวมไปถึงที่พักของนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย ทำงานโดยให้ผู้ขายตั๋วเรืออัพโหลดไฟล์ข้อมูลผู้โดยสารในรูปแบบของ Microsoft Excel ลงในฐานข้อมูลของจังหวัดก่อนออกเรือทุกครั้ง คาดเตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้กลางเดือนสิงหาคมนี้ 2) ระบบการดูแลความปลอดภัย ณ ท่าเทียบเรือ เรียกได้ว่าเป็นระบบการบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งระบบในส่วนนี้จะยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ทั้งหมด โดยจะเลือกท่าเรือที่มีความพร้อมก่อน เช่น ท่าเรือจากทางภาครัฐ และภาคเอกชน โดยจะมีการจับคู่ (Matching System)ระหว่างข้อมูลของผู้โดยสารกับสายรัดข้อมือที่ฝังชิพ ซึ่งชิพตัวนี้จะใช้ในการยืนยันตัวตนของผู้โดยสารก่อนขึ้นเรือ ในรูปแบบ Radio Frequency Identification หรือ RFID ซึ่งจะทำการเชื่อมต่อกับแอพลิเคชั่น และระบบข้อมูลของท่าเรือ พร้อมกับกล้อง CCTV ในการบันทึกหน้าผู้โดยสาร ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้โดยสารที่ขึ้นเรือและกลับมาครบตามจำนวนที่ออกจากท่าหรือไม่ "ทางดีป้าได้ทำการพัฒนาซอฟต์แวร์ต้นแบบไว้แล้ว ในโครงการ "Smart Growth" ภายใต้แนวคิด "Phuket Smart City" ในการยกระดับความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งสถานะของระบบในตอนนี้กำลังทำการคัดเลือกท่าเรือที่มีคุณสมบัติพร้อม จำนวน 5 ท่าด้วยกัน โดยคาดว่าสามารถเริ่มทดลองใช้งานได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากผลการใช้งานเป็นที่น่าพอใจ ทางเราจะมีการขยายผลในการขอความร่วมมือให้ทุกท่าเรือใช้ระบบนี้โดยพร้อมเพรียงกัน" นายประชา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ