“บล.โกลเบล็ก” ขานรับการประชุมครม.ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กรอบดัชนี 1,555 – 1,580 จุด- แนะนำสะสมหุ้นได้อานิสงส์เงินบาทแข็งค่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 16, 2017 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ บล.โกลเบล็ก มองหุ้นไทยได้รับปัจจัยหนุนจากตลาดคลายกังวลความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและการประชุมครม.ผลักดันแผนปฏิรูปประเทศ บวกแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมัน รวมทั้งขยายเวลาการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ออกไปอีก 1 ปี หนุนกรอบดัชนีแกว่งตัวที่ 1,555 – 1,580 จุด แนะสะสมหุ้นนำเข้าที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า ชู SYNEX-COM7-SIS-BIZ -MGT ด้านแนวโน้มราคาทองคำแนะเก็งกำไรเป็นรอบในกรอบ 1,260–1,295 ดอลลาร์ น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยหนุนจากความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเหนือผ่อนคลายลงหลังจากไม่มีเครื่องบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือจะยิงขีปนาวุธเพื่อโจมตีเกาะกวมในอนาคตอันใกล้ และการประชุมครม.วานนี้ผลักดันหลายเรื่อง อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะรวม 120 คน แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศฉบับที่ 3 (2560-2564) การจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันเพื่อสนับสนุนให้เกิดความสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งขยายเวลาการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่อัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องจนถึงปลายปีนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย สำหรับปัจจัยที่มีผลลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะนี้มาจาก Fund Flow ต่างชาติตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็น Net Sellราว 4 พันลบ. รวมถึงราคาน้ำมันไม่สามารถยืนที่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้จากปัญหากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐและกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ให้ความร่วมมือต่ำในการลดกำลังการผลิต และหุ้นที่ประกาศจ่ายเงินปันผลส่วนใหญ่ขึ้นเครื่องหมาย XD ในเดือนสิงหาคม รวมทั้งมีหุ้นบางกลุ่มเช่นกลุ่มธนาคารและกลุ่มค้าปลีกน่าจะถูกปรับลดประมาณการ ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ วันที่16 ส.ค. กำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 5/2560 ส่วนอียูมีกำหนดเปิดเผยประมาณการเบื้องต้น GDP ของยูโรโซนประจำ Q2/2560 เช้าวันที่ 17 ส.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และในวันที่ 21 ส.ค. สภาพัฒน์ แถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 2/60 ด้านนายชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอ่อนแรงลงจากปัจจัยบวกเรื่องแรงซื้อดักงบ Q2/2560 ที่อ่อนกำลังลงหลังบจ.ประกาศงบการเงินครบแล้ว และหุ้นที่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจะเริ่มXD ในเดือนสิงหาคม ประกอบกับ Fund Flow ต่างชาติที่เป็น Net Sell ตั้งแต่ต้นเดือน และการที่ราคาน้ำมันไม่สามารถยืนที่ระดับสูงได้ โดยยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่คลี่คลายลง ดังนั้นประเมินว่า SET จะแกว่งตัวในกรอบ 1,555 – 1,580 จุด ทั้งนี้ แนะนำทยอยซื้อกลุ่มหุ้นรายตัวที่มีข่าวดี อาทิ กลุ่มระวางเรือ แนะนำ RCL ได้ประโยชน์จากค่าระวางเรือทำ high ในรอบ 3 เดือนขณะที่ราคาหุ้นซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (BVS) ที่ 10.40 บาท และหุ้นนำเข้าที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่SYNEX, COM7, SIS, BIZ และ MGT สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ นักวิเคราะห์การลงทุน บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ระดับราคาทองคำโลกกำลังอ่อนตัวตามสถานการณ์ความตึงเครียดที่คาบสมุทรเกาหลีผ่อนคลายลงหลังสหรัฐฯยืนยันมุ่งเน้นการเจรจาเป็นหลัก ในขณะที่รัฐบาลจีนพร้อมคว่ำบาตรเกาหลีเหนือตามมติสหประชาชาติ แต่เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในสหรัฐฯและการประท้วงเกี่ยวกับเชื้อชาติกำลังกดดันสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นบวกต่อทองคำโลก แต่ทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อไป ดังนั้น ราคาทองในประเทศจะไม่ได้รับผลบวกดังกล่าวมากนัก สำหรับการคงอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของไทยที่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังเปราะบางเป็นการเพิ่มโอกาสให้เงินทุนไหลเข้ามากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯขาดปัจจัยบวกกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดเชื่อมั่นว่า Fed จะคงดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย ราคาทองคำในประเทศจึงอยู่ในทิศทางขาลงต่อไป ทั้งนี้ คาดการณ์ราคาทองคำโลกจะแกว่งตัวมากขึ้น โดยมีจังหวะให้เล่นรีบาวด์เมื่อเข้าใกล้ 1,260 ดอลลาร์ แต่ 1,300 ดอลลาร์ยังคงเป็นระดับที่มองเช่นเดิมว่าไม่น่าจะผ่านขึ้นไปได้ จึงแนะนำให้เก็งกำไรเป็นรอบในกรอบระหว่าง 1,260–1,295 ดอลลาร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ