ผู้ว่าการ กยท. เสวนา ร่วมตลาดหลักทรัพย์ “จับทิศ พิชิตราคายางพารา” เจาะลึกทิศทางราคายางครึ่งหลัง ปี 60 ชี้แนวทางสนับสนุนสินค้ายางในฐานะประเทศผู้ผลิตรายใหญ่

ข่าวทั่วไป Friday August 18, 2017 12:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--การยางแห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ อนาคตยางพาราไทย โอกาสและความท้าทาย ภายในงานสัมมนาพิเศษ "จับทิศ พิชิตราคายางพารา" โดยเจาะลึกแนวโน้มทิศทางราคายางครึ่งหลังปี 60 พร้อมชี้แนวทางสนับสนุนสินค้ายางพาราของภาครัฐในฐานะประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ภาพรวมของการเสวนาในวันนี้ ได้นำเสนอผลการประชุมในระดับไตรภาคีให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมถึงผู้เข้าร่วมงานรับทราบ ว่า 3 ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มองว่าปัจจัยพื้นฐานยางพาราในระยะยาวยังคงแข็งแกร่ง คือ มีความต้องการใช้ยางสูง ขณะเดียวกันปริมาณยางช่วงเวลานี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้อยกว่า เนื่องจากประสบอุทกภัยน้ำท่วม ฝนตกหนัก ทั้งภาคอีสานและภาคใต้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียประสบภาวะอากาศหนาวไม่สามารถกรีดยางได้ ปริมาณยางที่ออกมาสู่ตลาดจึงมีปริมาณค่อนข้างต่ำ ฉะนั้น เมื่อมองปัจจัย demand และsupply ประกอบกันแล้วยังเป็นบวก ประกอบประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อยางรายใหญ่ มีปริมาณยางใน stock ลดลง อย่างชัดเจนกว่า 19% ในช่วงระยะเวลาเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา จึงทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าผลผลิตยางเพิ่มขึ้นเช่นกัน สำหรับราคายางที่มีการปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องการเก็งกำไรของตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาด เพราะเมื่อมีการตรวจสอบเรื่องแรงซื้อกับแรงขาย พบว่าแรงขายมีมากเกินไป เมื่อใกล้ถึงเวลาส่งมอบจะมีแรงซื้อย้อนกลับมา เพราะฉะนั้น ในระยะอันใกล้จะเห็นว่าราคามีการปรับตัวขึ้น โดยตลอด ช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาปัจจัยดังกล่าวได้สะท้อนมาถึงราคาในประเทศไทย เช่น ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 8 บาท จึงถือว่าราคายางเริ่มมีการไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเสวนาครั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทยได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปที่สนใจจะเข้าซื้อยางในตลาดยางล่วงหน้าของประเทศไทย(TFEX) เข้าใจถึงการร่วมมือกับนักธุรกิจวางแผนดำเนินการด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเบื้องต้นจากการวิเคราะห์สถานการณ์พบว่าแรงขายมีมากกว่าแรงซื้อ ดังนั้น ต้องสร้างแรงซื้อในตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลและดันราคาให้เข้าสู่ดุลยภาพ สิ่งสำคัญ คือ การร่วมกันในลักษณะของเงินกองทุนเพื่อเพิ่มแรงซื้อ ซึ่งเป็นการเข้าซื้อทั้งในตลาดส่งมอบจริง และตลาดการซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเมื่อเพิ่มกำลังซื้อทั้ง 2 ตลาดแล้ว จะเห็นว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคามีการปรับช่วงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันทั้ง 2 ตลาด ซึ่ง กยท. จะดำเนินการเพิ่มแรงซื้อต่อไป จนกว่าราคาจะอยู่ในกรอบที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้ ทั้งในภาคของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ใช้ยางทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง "การตั้งเป้าราคาจะมองเป็นกรอบของราคา เปรียบเทียบจากต้นทุนการปลูกของเกษตรกร ณ วันนี้ อยู่ที่ประมาณ 50 กว่าบาท (อ้างอิงตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เมื่อบวกกำไรพื้นฐาน ราคาควรอยู่ที่ 60กว่าบาท โดยมองว่ากรอบของราคาในปีนี้ เมื่อวิเคราะห์จากปริมาณของความต้องการแล้ว น่าจะอยู่ในกรอบ 60 ถึง70 บาท ซึ่งเป็นกรอบที่คิดว่าทุกฝ่ายสามารถดำเนินธุรกิจของตัวเองได้ ในส่วนของเกษตรกรจะไม่กระทบความเป็นอยู่ของเกษตรกร สำหรับในส่วนของนักลงทุน คาดว่าจะเป็นระดับราคาที่ยังมีโอกาสทำกำไรได้" ผู้ว่าการ กยท.กล่าวทิ้งท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ คือ การสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จะต้องเป็นข้อมูลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีความถูกต้อง ชัดเจน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่ามีข่าวลือ และข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งสร้างความเข้าใจผิด มีผลค่อนข้างมากต่อจิตวิทยาของตลาด เพราะฉะนั้น เราควรเลือกรับข้อมูลข่าวสารโดยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและอย่าหลงเชื่อข่าวลือ เพราะถือว่าโอกาสของตลาดยางยังมีอีกมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ